ในการสัมมนา THE BIG ISSUE 2023 ปุ๋ยแพง : วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” และเครือเนชั่น ในภาพรวมได้พูดถึงปัญหาปุ๋ยเคมีที่เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของเกษตรกรไทยมีราคาที่แพงขึ้นในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา 100-200% จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลอุปทานปุ๋ยโลกขาดแคลน และมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามต้นทุนพลังงาน พร้อมชี้แนะทางออกและแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่ง ถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีแม่ปุ๋ยหลักในการผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อทดแทนการนำเข้า (ปี 2565 ไทยมีการนำเข้าแม่ปุ๋ย และปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ กว่า 1.08 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ทราบว่า ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติอนุญาตให้มีการผลิตและตั้งโรงงานเพื่อผลิตปุ๋ย (แม่ปุ๋ย) โพแทสเซียมคลอไรด์ในประเทศไทยจาก 3 แหล่ง
แหล่งแรกที่ จ.นครราชสีมา (ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด) ซึ่งได้รับอนุญาตจาก ครม.ไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ แหล่งที่ 2 ที่จ.ชัยภูมิ (ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน)) กำลังผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งได้รับสัมปทานไปแล้วเช่นกัน อยู่ระหว่างดำเนินการและระดมทุน คาดจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในอีกประมาณ 3 ปี
ส่วนแหล่งที่ 3 ที่ จ.อุดรธานี (ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ซึ่ง ครม.เพิ่งอนุมัติให้ความเห็นชอบได้รับสัมปทานไปเมื่อปี 2565 คาดจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีจึงจะผลิตได้ (รวมกำลังผลิต 3 รายประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี)
“หากไทยมีแหล่งการผลิตปุ๋ยโปแตชในประเทศได้เอง และมีการใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสาน ลดห่วงโซ่อุปทาน ลดยี่ปั๊วซาปั๊ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่างๆ สามารถที่จะซื้อปุ๋ยจากบริษัทเหล่านี้ได้โดยตรง และเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภัณฑ์ โดยใช้ศาสตร์พระราชา รวมถึงการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เช่น โดรนที่สามารถใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ และเต็มประสิทธิภาพ และมีการขยายผลไปทั่วประเทศ มั่นใจว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรจะลดลงไม่ต่ำกว่า 20-30%” นายระพีภัทร์ กล่าว
สอดคล้องกับ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่กล่าวว่า จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปุ๋ยไนโตรเจน (แม่ปุ๋ย) มีราคาสูงขึ้นมา โดยในปี 2563 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 12,000-15,000 บาท/ตัน แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 30,000-35,000 บาท/ตัน ขณะที่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ปี 2564 ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาท/ตัน แต่ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 38,000 บาท/ตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม ปี 2564 ราคาขายปลีกอยู่ที่ 9,000 บาท/ตันปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 32,000 บาท สูงขึ้นถึง 4 เท่า
“หากดูตัวเลขตลาดโลกราคาปุ๋ยปีที่แล้วเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่เดือน มี.ค.ปีนี้ลดลง ตรงกับราคาปุ๋ยบ้านเรา หลายท่านอาจสงสัยว่าสงครามรัสเซียยังอยู่ แต่ทำไมปุ๋ยลดลง ซึ่งราคาปุ๋ยลดเกิดจากการดีล ระหว่าง UN และตุรกี ให้เกิดการส่งออก (Grain and Fertilizer Deal)โดยรัสเซียอนุญาตยูเครนให้ส่งออกปุ๋ยและธัญพืชผ่านทะเลดำได้ ซึ่งเป็นระยะสั้นเท่านั้นที่ทำให้ราคาปุ๋ยลดลง โดยรัสเซียให้เวลาส่งออก 60 วัน”
สำหรับราคาปุ๋ยนับจากนี้ขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัย ได้แก่ 1. ดีลที่จะจบ พ.ค.66 นี้ ต้องติดตามว่ารัสเซียจะต่อให้หรือไม่ 2. ขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซียกับยูเครนว่าจะจบอย่างไร3.ขึ้นอยู่กับราคาก๊าชธรรมชาติ โปแตช และฟอสเฟต 4.ขึ้นอยู่กับจีน และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และ 5.ขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อปุ๋ยรัสเซียจากทั่วโลก
อย่างไรก็ดีในอาเซียนไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเรื่องต้นทุนปุ๋ย จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง โดยมีอินโดนีเซียเป็นเบอร์หนึ่ง (กำลังผลิต 12 ล้านตันต่อปี) ซึ่งมีการผลิตครบวงจร ทั้งการขายในประเทศ การส่งออก และช่วยเกษตรกร ดังนั้นสิ่งที่ไทยต้องทำ มองว่าถึงเวลาที่จะต้องคุยกันเรื่องการผลิตปุ๋ยเองหรือไม่อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นต้นทุนสินค้าเกษตรไทยจะแข่งขันลำบาก จากมีต้นทุนและราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก จากอดีตที่ผ่านมาต้นทุนเกษตรกรไทยส่วนใหญ่คือค่าแรง แต่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนปุ๋ยสูงกว่าค่าแรง ซึ่งไทยตั้งอยู่กับความเสี่ยงตลอดเวลา จากเป็นประเทศผู้นำเข้า
“เรามีวัตถุดิบทั้งก๊าซ ทั้งโปแตช ที่เป็นสารตั้งต้นในการทำปุ๋ย ทำไมไม่ทำ ทั้งนี้เคยทำแล้วเมื่อปี 2525 แต่ว่าล้มเหลว ดังนั้นบางเรื่องเราควรเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังมีวิธีลดต้นทุนปุ๋ย เช่น ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่ลดลง แต่เพิ่มรอบในการให้ การผลักดันส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดิน และต้นไม้ เป็นต้น”
นายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ (รักษาการ) บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ในนามตัวแทนบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ที่ทีอาร์ซีถือหุ้นอยู่ 25% และเป็น 1 ใน 3 โครงการเหมืองแร่โปแตช กล่าวว่า ทีอาร์ซีได้เข้าร่วมโครงการฯนี้ในปี 2550 ล่าสุดต้นปี 2566 จากโครงการนี้มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 20% คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กระทรวงการคลังดำเนินการเข้าเพิ่มทุนในโครงการฯ เพื่อดำเนินการโครงการนี้ต่อ
อย่างไรก็ดี จากมติครม. ระบุอีกว่า เนื่องจาก บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ เป็นหนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ 5,848 ล้านบาท (หนี้สินค้างชำระการออกประทานบัตรและเงินค่าปรับผิดนัดชำระ) จึงขอให้ใช้หนี้ก่อน เบื้องต้นเอกชนได้เข้าไปเจรจากับภาครัฐ เพื่อขอให้โครงการฯนี้เกิดขึ้นได้ก่อน โดยหากโครงการเกิดได้ ทางบริษัทฯ จะใช้หนี้คืนในรูปของผลผลิตปุ๋ย ในราคาที่ต่ำกว่าการนำเข้าปุ๋ยหรือต่ำกว่าราคาประกาศแร่โปแตชของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ณ วันที่ชำระลบ 10% หากภาครัฐต้องการปุ๋ยมากกว่านั้น ทางเอกชนพร้อมจำหน่ายปุ๋ยให้แก่ภาครัฐตามราคาที่ กพร.ประกาศ -7%
นายภาสิต กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีปริมาณแร่โพแทสเซียมสำรองทั้งหมด 400,000 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 แอ่ง ได้แก่ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช โดยโครงการของ APOT ได้จัดเตรียมพื้นที่ ประมาณ 5,600 ไร่ ที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งไม่อยู่ในลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ไม่พาดผ่านแนวรอยเลื่อน และไม่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการวางแผนระดมทุน
สำหรับภาพรวมตลาดปุ๋ยเคมีในไทย พบว่าปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้น ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง โดยในปี 2565 มีปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลง 25% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจาก 45 ประเทศ ปริมาณ 5.5 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 70,103 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังพบว่าต้นทุนการผลิตพืชมีค่าปุ๋ยเคมีเกินกว่า 20% ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ย และแม่ปุ๋ย จากต่างประเทศ ราคาแม่ปุ๋ยทุกชนิดมีการปรับตัวขึ้นอย่างสูงมาก ปัจจุบันไทยใช้ปริมาณปุ๋ยทั้งหมด ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี โดยมีแม่ปุ๋ย N-P-K ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี
“หากไทยสามารถเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีได้ เรายินดีให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการทุกราย เพราะเราเป็นต้นน้ำ ที่ไม่ได้มุ่งหวังการขายปลีก โดยที่เราไม่ต้องง้อการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เราต้องการนำปุ๋ยไนโตรเจนจากต่างประเทศมาแลกกับแร่โปแตชในไทย หากเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่เป็นสีแดงในการนำเข้าตลาดปุ๋ยเคมีได้ จะทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองให้ราคาปุ๋ยเคมีลดลงได้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย”
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า กรมการค้าภายในมีหน้าที่กำกับดูแลสินค้าทั้งราคาและปริมาณ โดยในส่วนของปุ๋ยจะดูแลปริมาณให้เพียงพอต่อความต้องการและราคาต้องไม่สูงเกินไป หรือต้องเป็นธรรม จากไทยเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100%
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อราคาปุ๋ย มาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานในตลาดโลก ดีมานด์-ซัพพลายในตลาดโลกในแต่ละสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังผันผวน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง ทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งมีส่วนส่งผลต่อราคาปุ๋ย และไทยเองก็นำเข้าปุ๋ยเกือบ 100%
ในปี 2565 ที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกและราคาในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก กรมฯได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ สมาคมผู้ค้าปุ๋ยในการจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ย ซึ่งลดลงมา 20-50 บาทต่อกระสอบ แม้ว่าจะลดไม่มากแต่ก็ช่วยให้เราคงราคาไว้ได้อย่างน้อยประมาณ 4.5 ล้านกระสอบ ใน 48 สูตร ช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิตได้กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือนก.ค.-ธ.ค.2565 มียอดสั่งซื้อกว่า 3 ล้านกระสอบ
อย่างไรก็ดีเวลานี้ราคาปุ๋ยปรับลดลงมามาก เช่น เดิมปุ๋ยยูเรียราคาอยู่ที่ 1,600-1,700 บาทต่อกระสอบ เวลานี้อยู่ที่ 800 บาทต่อกระสอบ ลดลงมากกว่า 50% แต่ยังแพงในมุมมองของเกษตรกร เพราะราคาเดิมควรอยู่ที่ 500-600 บาทต่อกระสอบ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าหลายพื้นที่มีแนวโน้มราคาลดลง ส่วนที่บางพื้นที่ยังมีราคาหลักพันบาทต่อกระสอบอาจเป็นเพราะสต๊อกเก่ายังคงค้างอยู่มาก แต่เชื่อว่าราคาจะค่อยๆ ลดลง
สำหรับสต๊อกปุ๋ย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 พบว่ามีปริมาณ 1.3 ล้านตัน ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่าเพิ่มขึ้นมากว่า 50% ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ปุ๋ยจะเพิ่มมากขึ้น จากผลผลิตผลทางการเกษตรที่ดีโดยเฉพาะผลไม้ ซึ่งขอให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอแน่นอน
ขณะที่ นายชุติภพ เหงากุล ที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะเกษตรอินทรีย์ จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ ภาคเกษตรของไทยมีต้นทุนด้านปุ๋ย 20-28% ของต้นทุนการผลิตในภาพรวม มองว่าเป็นผลจากการผลักภาระต้นทุนไว้ที่ปุ๋ยเคมีทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความต้องการอาหารในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกตรปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยผลผลิตให้กับเกษตรกร เป็นปัจจัยบวกต่อผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวอินทรีย์ และสารอาหารสำหรับพืชของบริษัทฯที่มีมากมายหลายผลิตภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้บริษัทได้ทำศูนย์วิจัยเกษตรไร้สารพิษ เนื้อที่ 50 ไร่ อยู่ที่ถนนพระราม 9 ซึ่งปัจจุบันกล้าบอกได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ของทีพีไอสามารถที่จะทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 100%
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3885 วันที่7 -10 พฤษภามคม พ.ศ. 2566