“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติดประเด็น พันธุ์ข้าว 4 ชนิด ประกอบด้วย 1. ข้าวจัสมิน เบอร์ 20 , 2.ข้าวเอ็มจี (เอ็มจี) 3.ข้าว กข95 (ดกเจ้าพระยา) และ 4.กข 85 (เบา เม็ดสั้น) ที่โรงสีขอความร่วมมือเกษตรกร หรือชาวนางดปลูก เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์คุณภาพต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดนั้น
แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลุ่มเฟซบุ๊กเรื่องเล่าชาวนา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในตลาดมีการแอบอ้างและยัดเยียดขายเมล็ดพันธุ์ข้าว บางรายจะซื้อพันธุ์ข้าว กข63 แต่บางร้านบอกว่าเป็นตัวเดียวกับข้าวพันธุ์ กข95 บางร้านนำข้าวจัสมิน85 มาเรียกเป็นข้าว กข85 เป็นข้าวเบาก็มี พอปลูกขึ้นมาทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างน่าสนใจ ล่าสุดโรงสีติดป้ายประกาศรับซื้อข้าว 4 ชนิดนี้ ในราคาต่ำกว่าราคาข้าวปกติทั่วไปตันละ 300 บาท
กรณีดังกล่าว นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย กล่าวว่า สมาชิกมีผู้ประกอบการร่วม 100 ราย ซึ่งใน 100 รายเชื่อว่าไม่ทำการค้าในลักษณะที่เอาพันธุ์อื่นมาใส่แล้วบอกว่าเป็นพันธุ์นั้น พันธุ์นี้แน่ ๆ แต่ก็ไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดว่าผู้ที่รวบรวมมีการบอกพันธุ์ไม่ตรงหรือไม่ แต่ในสมาชิกในสมาคมเท่าที่ได้มีการพูดคุยกันไม่น่าจะมี ก็ต้องให้เกษตรกรชี้เป้าว่าเป็นแหล่งไหนที่ไปซื้อว่าที่บอกว่าพันธุ์ไม่ตรง หลอกขายพันธุ์ อันตราย แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการหลัก คงไม่กล้าเอาชื่อเสียงไปแลกกับผลประโยชน์แค่เพียงเล็กน้อยแน่นอน
สำหรับเกษตรกรมองว่าควรจะป้องกันตัวเอง โดยมีวิจารณญาณในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ คือจะต้องศึกษาแหล่งที่ซื้อน่าเชื่อถือได้ อันดับแรก ให้ซื้อพันธุ์ข้าวตรงจากกรมการข้าว และ สอง ให้ซื้อจากภาคเอกชน ก็ต้องเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ซื้อจากแบรนด์ไหนก็ได้ ซึ่งมีบางแบรนด์ไม่ได้ทำขายตรงให้กับเกษตรกร ขายให้กับร้านส่ง ร้านส่งก็ไม่ทราบว่าร้านที่มาส่งให้ตรงตามพันธุ์หรือไม่ เชื่อว่าร้านส่งรู้ร้านขายปลีกคงไม่ยอมแน่นอนจะนำเข้าพันธุ์ไม่ตรงมาขาย ก็อาจจะเกิดความไม่รู้ ซึ่งร้านขายส่งก็ซื้อจากบริษัทรวบรวมหลายบริษัท เพราะฉะนั้นเกษตรกรควรจำแบรนด์ที่ตัวเองซื้อ แบรนด์ไหนที่มีมาตรฐาน ที่มีชื่อเสียง เชื่อว่าจะไม่ยอมทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเสียชื่อเสียงในระยะยาว
นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่โรงสีติดป้ายไม่รับซื้อข้าว 4 พันธุ์ชนิดเมล็ดพันธุ์มีหลายประเด็น อาทิ โรงสีที่ทำข้าวแข็ง ก็จะไม่ซื้อข้าวพื้นนุ่ม ส่วนโรงสีที่ทำข้าวพื้นนุ่มก็จะไม่ซื้อข้าวพื้นแข็ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจโรงสี ว่าเข้าใจแต่ละชนิดพันธุ์ข้าวตรงหรือไม่
“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าในตลาดมีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย และมีบางพันธุ์ที่มีชื่อแปลก ๆ ดังนั้นโรงสีจะต้องจำลักษณะพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์อย่างไร เช่น กข85 ข้าวเบา ไม่มีแน่นอน จะต้องมีเมล็ดยาว แต่จะเหมาไม่ซื้อ กข85 เพราะจำได้ว่าเคยมีเมล็ดสั้น ก็เห็นว่าโรงสีควรที่จะศึกษา และ พันธุ์ข้าวกข95 ก็เป็นข้าวคุณภาพ”
นายนิทัศน์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้ก็อาจจะเป็นเพราะซื้อข้าวไม่ตรงตามพันธุ์ และถ้าเกิดข้าวที่เกิดการหักล้ม ก่อนที่ข้าวจะสุกจะเกิดปัญหาข้างในข้าว มีความขุ่น ทำให้แป้งไม่เต็ม ไม่ใสเป็นเมล็ด เป็นลักษณะที่โรงสีกลัวมาก จะทำให้เวลานำไปสี จะไปยิงเลเซอร์ต้องยิงออกเยอะเลย เพราะฉะนั้นคุณภาพข้าวจากการปลูกก็มีผลด้วย แล้วกข 95 ทรงต้นสูง ปกติเป็นข้าวที่ต้นแข็ง
"แต่หากนำไปปลูกดินที่งาม หรือใช้ปุ๋ยไนโตรเจน หรือ ปุ๋ยยูเรียมาก ด้วยความที่งามเกินไป หากข้าวที่เก็บเกี่ยวหลังเจอลมพายุฝน ทำให้ข้าวหักก่อนที่จะสุก ยังเป็นน้ำนมแก่ จะให้เกิดปัญหาแป้งไม่เต็ม ไม่ใสเป็นเมล็ด ทำให้โรงสีจำว่าเป็น กข95 เป็นเมล็ดขุ่นขาว ทั้งที่จริงเป็นคุณภาพการปลูก ไปโดนลม พายุ หักก่อน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โรงสีเจอแล้วทำให้ไม่อยากรับซื้อข้าวชนิดนี้ แต่ต้องไม่สรุปว่า กข85 และกข95 เป็นข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะไม่เป็นความจริง โดยทั้ง 2 พันธุ์นี้ยืนยันว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและเมล็ดยาว ไม่ใช่เมล็ดสั้น"
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากการที่มีโรงสีบางโรงขึ้นป้ายแนะนำไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวบางชนิด และบางโรงไม่รับซื้อข้าวบางชนิด เป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจของแต่ละโรงสีที่มีความประสงค์ที่จะใช้ หรือไม่ใช้ ในข้าวแต่ละชนิด บางโรงสีก็สีข้าวเพียงหนึ่งชนิด บางโรงสีก็ใช้ข้าวมากกว่าหนึ่งชนิดเป็นเรื่องปกติ การที่บางโรงสีขึ้นป้ายแนะนำถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวนาได้รับทราบ หากชาวนาจะเพาะปลูกก็จะได้นำไปช่วยในการตัดสินใจ และที่สำคัญชาวนาเองต้องหาข้อมูลศึกษาด้วยว่า เพราะเหตุผลใดโรงสีจึงเตือน และหาข้อมูลในพื้นที่ว่าที่ไหนรับซื้อข้าวชนิดใดบ้าง
เช่นเดียวกันกับโรงสี ก็ต้องศึกษาว่าตลาดต้องการสินค้าชนิดไหน คู่ค้าต้องการข้าวชนิดใด และโรงสีเองถนัดสีข้าวชนิดใด เช่น ข้าวพื้นแข็ง พื้นนุ่ม หรือสีข้าวรวม ซึ่งจะแยกไปอีกว่าโรงสีเองต้องการซื้อขายข้าวชนิดไหน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวรวม ข้าวพื้นนุ่มชนิดพันธุ์อะไร พื้นแข็ง ชนิดพันธุ์ข้าวอะไร เพราะแต่ละพันธุ์มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน หรือใกล้เคียงกัน
ยกตัวอย่างเช่น ข้าวที่ออกดอกออกผลในช่วงเดือนเมษายน ก็มักจะกระทบกับอากาศร้อน โดยในปีนี้ค่อนข้างร้อนจัด ทำให้ข้าวนาปรังที่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน มีปัญหาเรื่องของ ท้องไข่ เมล็ดเป็นสีขาวขุ่น และหักป่น โดยส่งผลต่อขบวนการจัดการของโรงสี ในขั้นตอนการสี ทำให้มีการสูญเสียมากกว่าปกติ ซึ่งเรื่องนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวจะไม่ค่อยทราบ
ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าวที่เป็นข่าว ควรหาความชัดเจนเรื่อง พันธุ์ข้าวที่ชาวนาปลูกก่อน เช่นพันธุ์ชัยนาท63 กับข้าวพันธุ์กข.95 เป็นตัวเดียวกันหรือไม่ เพราะเท่าที่รับฟังมาบ้างก็บอกตัวเดียวกัน บ้างก็บอกคนละตัว และพันธุ์ที่ชาวนาเรียก 85 กับ กข.85 เป็นข้าวตัวเดียวกันหรือไม่
นอกจากนี้ ที่โรงสีบอก 85เบา เมล็ดสั้น คือข้าวอะไร เป็นพันธุ์เดียว กับ กข85หรือไม่ นี่คือสิ่งแรกที่ควรจะต้องหาคำตอบ หาความชัดเจน ข้อมูลเปรียบเทียบ ว่าข้าวแต่ละชนิดมีความแตกต่าง หรือมีความเหมือนกันอย่างไร เพื่อที่จะได้ไขความกระจ่างข้างต้น แล้วจะนำไปสู่การทำความเข้าใจของชาวนาได้ว่าทำไมโรงสีต่าง ๆ ถึงไม่รับซื้อข้าวชนิดที่ตนเองปลูก หรือรับซื้อในราคาต่ำ ดังนั้นกรมการข้าวจะต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงว่าของแท้กับของปลอมต่างกันอย่างไร ดีกว่ามาไล่จับ
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ไม่โทษโรงสี เพราะมองว่ามีเจตนาดี ซึ่งชาวนาจะต้องทำข้าวแบบไหนที่จะต้องตอบสนองตลาด แค่บอกมาว่าพันธุ์ข้าวไม่ดีแบบไหนก็แจ้งมา ชาวนายินดีทำตาม
ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ครั้งที่ 1/2566 ว่า ตามนโยบายตลาดนำการผลิต และยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการผลิต ปี 2563 – 2567 ได้กำหนดให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้าว เพื่อให้ปริมาณการผลิตข้าวมีความสมดุลกับความต้องการของตลาด ชาวนาสามารถผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ได้ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง รวมทั้ง การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีความยั่งยืน ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณค่าโภชนาการสูง มีคุณภาพได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นที่ได้รับความไว้วางใจ และต้องการบริโภคมากที่สุด โดยเน้นต้นทุนการผลิตข้าวทุกชนิด เฉลี่ยไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท หรือเฉลี่ยไม่เกินตันละ 6,000 บาท ในปี 2567
ทั้งนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) รับทราบความต้องการใช้ข้าว (Demand) จำนวน 29.296 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายการผลิตข้าว (Supply) ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 31.632 ล้านตันข้าวเปลือก พร้อมทั้งเห็นชอบการวางแผนการผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67 พื้นที่ 68.622 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 31.632 ล้านตันข้าวเปลือก
โดยแยกเป็นรอบที่ 1 (นาปี) พื้นที่ 59.480 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 25.662 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 (นาปรัง) พื้นที่ 9.142 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 5.970 ล้านตันข้าวเปลือก โดยพื้นที่และผลผลิตข้าวรอบที่ 2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น สถานการณ์ราคา สถานการณ์น้ำ และภัยธรรมชาติ
พร้อมทั้งมอบหมายกรมการข้าวซึ่งเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาเสนอมาตรการลดพื้นที่การปลูกข้าวภายใต้นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) และนโยบายอื่นๆ ในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับใช้ในการเพาะปลูก ปีการผลิต 2566/67 รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,411,000 ตัน มาจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์การเกษตร และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย รวมจำนวน 721,660 ตัน แบ่งเป็น
1.กรมการข้าว 95,000 ตัน
2.สหกรณ์การเกษตร 28,860 ตัน
3. ศูนย์ข้าวชุมชน 197,800 ตัน และ 4.สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย 400,000 ตัน
รวมทั้งกรมการข้าวร่วมส่งเสริมให้ชาวนาเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองอีกประมาณ 689,340 ตัน ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีเพียงพอกับการเพาะปลูก