ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”กำลังมาแรง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปีนี้ฝนจะน้อยกว่าปี 2565 ทำให้ชาวนาตื่นตัวรับมือกันตั้งแต่ต้นฤดูการเพาะปลูก ซึ่งนับจากนี้สภาพอากาศของประเทศไทยอาจเจอทั้งฝนทิ้งช่วง พายุหมุนเขตร้อน ที่อาจทำให้เกิดนํ้าท่วม นํ้าป่าไหลหลาก และดินถล่ม
นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากความกังวลปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เวลานี้ชาวนาได้หันมาปลูกข้าวพันธุ์ที่มีอายุสั้น โดยเฉพาะพันธุ์ กข61 ที่เป็นพันธุ์ข้าวเจ้า อายุการเก็บเกี่ยวสั้น(87-96 วัน) กันจำนวนมาก ทำให้พันธุ์ข้าวนี้ขาดตลาด
กรณีดังกล่าวทางสมาคมจึงได้มีการวางแผนกำหนดทำนาด้วย “ปฏิทินล้นเกวียน” ซึ่งเป็นการกำหนดช่วงปลูกข้าวที่เหมาะสม และมีพันธุ์ข้าว (กราฟิกประกอบ) ทั้งพันธุ์ต้านทานภัยร้อน ภัยหนาว และภัยมรสุม แนะนำให้ชาวนาปลูกเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ผลผลิตไม่เสียหายและได้คุณภาพ
ทั้งนี้แบ่งเป็น 1.พื้นที่นํ้าท่วมถึง ควรเริ่มปลูกข้าวฤดูแรกตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.-24 พ.ค. เพราะข้าวจะตั้งท้องและออกดอกเลยช่วงอากาศร้อนจัด และเก็บเกี่ยวก่อนภัยมรสุมทำให้ได้ผลผลิตสูง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. ต้องหยุดปลูกข้าวแล้วพักนาด้วยการปล่อยนํ้าเข้านา เพราะนํ้าจะพัดพาธาตุอาหารที่จำเป็นต่อต้นข้าวช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นนา และยังสามารถเป็นพื้นที่รับนํ้าไม่ให้นํ้าท่วมในเขตเมืองได้ด้วย
หลังจากนํ้าลงควรเริ่มปลูกข้าวฤดูที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.-1 ม.ค. จะทำให้รอดพ้นจากสภาวะอากาศหนาวเย็นอีกทั้งข้าวจะตั้งท้องและออกดอกก่อนอากาศร้อนจัด และยังสามารถใช้นํ้าที่มีอยู่ในนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
2.พื้นที่นํ้าท่วมไม่ถึง ควรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวฤดูแรกตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.-24 พ.ค. โดยข้าวจะตั้งท้องและออกดอกเลยช่วงอากาศร้อนจัด และเก็บเกี่ยวก่อนภัยมรสุมทำให้ได้ผลผลิตสูง เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วควรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าว ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.-13 ก.ย. เพราะจะเก็บเกี่ยวข้าวเลยช่วงฤดูมรสุม อีกทั้งข้าวยังตั้งท้องและออกดอกก่อนภัยจากอากาศหนาวเย็นซึ่งจะไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ได้ข้าวที่มีคุณภาพ หลังเก็บเกี่ยวแล้วพักนาด้วยการไถตาก หรือปลูกพืชหลังนา เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์สำหรับเตรียมการเพาะปลูกในฤดูต่อไป
ขณะที่ นายประมาณ สว่างญาติ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และประธานศูนย์ข้าวเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดพระนครศรี อยุธยากล่าวว่า จากที่โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 มีเป้าหมายดำเนินการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวน 58,700 ตัน ให้แก่ชาวนาไม่น้อยกว่า 205,965 ครัวเรือน ในพื้นที่ 76 จังหวัด งบประมาณ 1,001 ล้านบาท ผ่านศูนย์ข้าวชุมชนนั้น
ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากชาวนา ตนจึงได้ไปตรวจสอบในหลายพื้นที่ของหลายจังหวัดในฐานะที่เป็นเกษตรกรด้วย ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาไปจับผิดกรมการข้าวในฐานะเจ้าของโครงการ อย่างไรก็ดีได้พบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล คือ พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรได้รับปลูกแล้วข้าวไม่งอก หรืองอกน้อย ทำให้ไม่แน่ใจว่าพันธุ์ข้าวที่นำมาแจกได้มาตรฐานหรือไม่ จึงอยากให้กรมการข้าวตรวจสอบอย่างเข้มข้น
“ผมรณรงค์เรื่องการทำนาเหลื่อมเวลา โดยเฉพาะพื้นที่พระนครศรีอยุธยาที่มีแหล่งรับนํ้า 7 ทุ่ง สมควรที่จะได้ทำนาก่อน เพราะหากสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนนํ้าจะมา เกษตรกรจะไม่เสียหาย รัฐบาลไม่ต้องจ่ายชดเชย แต่ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ข้าวมาล่าช้าเกินไป หากชาวนาปลูกข้าวจากนี้ไปคาดว่าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันแน่นอน”
นายระวี รุ่งเรือง ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 อธิบดีกรมการข้าวได้แสดงความกังวล ใน “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” (5 มิ.ย.66) ว่า ส่อล้มเหลว โดยมีเกษตรกรร้องเรียนมาจำนวนมาก ทั้งส่งมอบล่าช้า ชาวนาปลูกข้าวไปก่อนหน้านั้นแล้ว เมล็ดพันธุ์ไม่ได้คุณภาพ และบางศูนย์ข้าวไม่ถึงมือชาวนา จากมีการแอบนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปขายให้พ่อค้าก็มี พอชาวนามาขอก็ไม่มีให้ อ้างโควตาหมดแล้ว จึงได้ตั้งกรรมการสอบแล้วเพราะผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3897 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2566