นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน เปิดประชุม “จัดระเบียบคุมเข้มมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนเพื่อการส่งออก ในพื้นที่ภาคใต้ ฤดูกาลผลิตปี 2566” แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคใต้ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดจนการป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการส่งออกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของจังหวัดชุมพร นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้มอบนโยบายด้านการส่งออกทุเรียนของจังหวัดชุมพรด้วย
“ขอย้ำเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเมื่อตัดทุเรียนส่งโรงคัดบรรจุต้องแสดงใบ GAP ให้โรงคัดบรรจุ เพื่อที่จะเป็นการยืนยันตัวตน ตรวจสอบแหล่งที่มาของผลผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งทางประเทศจีนได้ขึ้นทะเบียน GAP ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยเป็น GAP ทุเรียนจำนวน 74,136 แปลงอยู่ในภาคใต้ 38,181 แปลง”นายระพีภัทร์ กล่าว
ล่าสุดวันที่ 15 มิ.ย. 66 ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งทะเบียนGAP ให้จีนผ่านทูตเกษตรปักกิ่งเพื่อขึ้นทะเบียนในรอบถัดไปแล้วอยู่ระหว่างรอจีนพิจารณาขึ้นทะเบียนโดยเป็น GAP ทุเรียนจำนวน 72,488 แปลงอยู่ในภาคใต้ 40,107 แปลงจึงมั่นใจว่าจำนวนใบ GAP สำหรับการส่งออกมีเพียงพออย่างแน่นอนดังนั้นเพื่อให้สอดรับมาตรฐานการส่งออกตามพิธีสารไทย- จีนหากใบ GAP ส่งออกไม่ได้ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สายด่วนกรมวิชาการเกษตร 081-9384408
นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่รับผิดชอบโดย สวพ. 7 และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่รับผิดชอบโดย สวพ.8 มีการให้บริการ “GAP Mobile เคลื่อนที่” และบริการ Clinic เกษตรเคลื่อนที่ ในการขึ้นทะเบียนสวน GAP ให้กับเกษตรกรเป็นระยะ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดค่าใช้จ่าย สร้างการรับรู้ความเข้าใจในการผลิตทุเรียนคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP ไม่ตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพ รวมทั้งความสำคัญของการใช้ใบรับรอง GAP เพื่อจำหน่ายผลผลิต ทวนสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้
"สวพ.7 และ สวพ.8 มีความมุ่งหวังที่จะให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการส่งออกผลไม้ สามารถบริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐาน มกษ.9047-2560 มาตรฐานสินค้าเกษตรหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรับวัตถุดิบของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน มาตรการในการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน เพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู"
โดยได้จัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจในการตรวจคุณภาพทุเรียน จำนวน 104 รายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปฏิบัติงานเพื่อรองรับการดำเนินการส่งออกทุเรียนตลอดฤดูกาล โดยชุดเฉพาะกิจดังกล่าว ได้ออกตรวจติดตามล้ง ตั้งแต่ก่อนวันประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน วันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจ ทุกตู้ ทุกล้ง เพื่อทำการตรวจแยกสีล้ง ให้เป็นสีเขียว เหลือง แดง หลังวันที่ 10 มิ.ย. มีการวางแผนการเข้าตรวจตามประเภทล้งที่ได้จัดเกรดไว้ ล้งที่ได้สีเขียว หมายถึง ล้งที่มีการปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด ส่วนสีเหลืองและแดง คือล้งที่อาจจะมีการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปบ้างและจะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าตรวจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ขอเชิญชวนให้ทุกล้งปฏิบัติตามแนวทางที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดเพื่อเป็นสีเขียวซึ่งถือว่าเป็นชื่อเสียงของแต่ละแห่งด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกล้ง ช่วยตรวจสอบทุเรียนก่อนซื้อไม่ซื้อทุเรียนอ่อนจากมือตัดที่ไม่รักษากติกาเพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนหลุดรอดออกมาตลาดหรือส่งออกเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคและเป็นไปตามข้อกำหนดพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
นายเสกสรรค์ วรรณกรี ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพืชและวัสดุการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของการปิดตู้ก่อนการส่งออกได้มีการจัดเพิ่มกำลังนายด่านตรวจพืชเป็น 30 คน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบศัตรูพืช โรค แมลงที่อาจติดไปกับผลทุเรียน ก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC)เพื่อการส่งออก ตามพิธีสารที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศจีน โดยกรมวิชาการเกษตร จะบูรณาการร่วมกับจังหวัดชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเข้มในวันที่ 27-28 มิ.ย นี้
โดยดำเนินนโยบายของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ย้ำคุมเข้มทุเรียนใต้ ต้องได้ทั้งคุณภาพเหมือนภาคตะวันออก บูรณาการตรวจเข้มลงพื้นที่ 27-28 มิ.ยนี้ เปิดสายด่วน กรมวิชาการเกษตร 081-9384408 พร้อม ขึ้นทะเบียน GAP บริการ Clinic เกษตรเคลื่อนที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ประชาชน เกษตรกร เน้นย้ำ มาตรการควบคุมคุณภาพและป้องกันสวมสิทธิ์ทุกรูปแบบโดยการบรูณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทาง DOA Together