จากนโยบายพรรคก้าวไกล ที่ได้หาเสียงไว้กับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ที่มีความแตกต่างจากพรรคอื่น อาทิ 1.สนับสนุนให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าว 2.กำหนดราคาเป้าหมายของมะพร้าว (ผลใหญ่) ที่ 15 บาทต่อผล 3.จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายมะพร้าวแห่งชาติ แยกออกมาจากคณะกรรมการพืชนํ้ามันและนํ้ามันพืช และให้ชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ได้เลือกตั้งผู้แทนในคณะกรรมการนโยบายมะพร้าวได้โดยตรง
4.พัฒนาระบบและมาตรฐานการซื้อขายมะพร้าวให้มีความโปร่งใส่และเป็นธรรม โดยการทำข้อตกลงราคาล่วงหน้า (ใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์คล้ายโมเดลระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล) และ 5.ประกาศมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสินค้า 2 เท่าในเวลา 4 ปี จากนโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้ง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในช่วงระหว่างรอรัฐบาลใหม่ ทางกลุ่มได้ประสานขอตัวเลขการนำเข้ามะพร้าวจากกรมศุลกากร เพื่อศึกษาข้อมูลการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมา พบข้อมูลไทยมีการนำเข้าเนื้อมะพร้าวขาว ตั้งแต่ปี 2563-2565 จำนวน 1.4 หมื่นตัน (ปี 2566 ตัวเลขเดือนม.ค.-เม.ย. มีจำนวน 1,978.42 ตัน)
“มะพร้าวขาวไม่ใช่สินค้าควบคุม ในอนาคตคาดจะมีการนำเข้ามามากขึ้น จากการเปิดเสรีทางการค้าโดยไม่ได้เปิดให้นำเข้าเฉพาะส่วนที่ขาด ทำให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีกำลังที่จะปกป้อง ส่งผลให้ราคามะพร้าวในประเทศลดลง ล่าสุด ณ วันที่ 28 มิ.ย.66 ราคามะพร้าวทั่วไปลูกละ 7 บาท (จากเคยสูงสุด 25 บาทต่อลูก) มะพร้าวอินทรีย์ เหลือลูกละ 12 บาท (เคยขึ้นไปสูงสุดลูกละ 33 บาท) แล้วตอนนี้เผชิญแล้งหนัก ทำให้มะพร้าวแก่เร็วขึ้น (ต้นพยายามสลัดลูกทิ้ง) หลังจากนี้อีก 2 เดือน มะพร้าวจะขาด ไม่มีของ ซึ่งมองดูแล้วการบริหารมะพร้าวไม่สมดุล เมื่อราคาไม่จูงใจ เกษตรกรจะปล่อยละเลยไม่ดูแลสวน ไม่ใส่ปุ๋ยบำรุง ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนมะพร้าวมากขึ้น”
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า จากนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องมะพร้าว โดยนายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคก้าวไกล ได้ลงมารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่แล้วนำกลับไปแปลงเป็นนโยบายของพรรค หากเป็นไปได้อยากจะให้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการภายใน 100 วันแรกของการทำงานหากได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากเวลานี้ราคามะพร้าวมีแนวโน้มตกตํ่าต่อเนื่อง และในอนาคตหากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนัก โรงงานกะทิ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศจะยิ่งทำให้ชาวสวนลำบากขึ้นไปอีก
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ราคามะพร้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง จากช่วงนี้หลายโรงงานไม่เร่งซื้อ จากความต้องการสินค้าของตลาดปลายทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่หดตัวได้แก่ นํ้าตาลมะพร้าว และนํ้ากะทิ
ขณะที่ในช่วงเกิดโควิด ผู้บริโภคได้ซื้อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปตุนไว้ที่บ้านพอสมควร ทำให้มีความต้องการลดลง ขณะเดียวกันจากภาคการท่องเที่ยวของโลกที่กลับมาฟื้นตัวหลังโควิด แต่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฟื้นตัว ได้ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่พึ่งพาช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางข้างต้นชะลอตัวตามเช่นกัน อย่างไรก็ดีคาดหวังช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ทิศทางแนวโน้มสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น จากสต๊อกสินค้าของคู่ค้าและผู้บริโภคเริ่มลดลง
“หลักการนำเข้ามะพร้าว จะใช้ผลผลิตมะพร้าวในประเทศเป็นตัวตั้ง และนำเข้ามาเติมในกรณีที่คู่ค้ามีคำสั่งซื้อเข้ามามาก หากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอก็จะทำให้เสียฐานลูกค้าไป ลูกค้าอาจหันไปซื้อประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตามในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีใครอยากมีสต๊อกมาก จะต่างกับสถานการณ์ในช่วงโควิดที่จะมีความกังวลว่าของจะขาดแคลนต้องเร่งซื้อตุนสต๊อกในแทบทุกสินค้า ทำให้ปีที่แล้วการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารเติบโตถึง 22% จากปกติโตเฉลี่ย 3-5% ผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ทุกประเทศห่วงเรื่องความมั่นคงด้านอาหารก็จะมีการซื้อตุนสต๊อกไว้ก่อน ทำให้สต๊อกสินค้าของคู่ค้าในหลายสินค้ายังมีมากมาจนถึงปัจจุบัน” นายวิศิษฐ์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,901 วันที่ 2-5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566