“โรคใบด่างมันสำปะหลัง” เป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย พบครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2561 แพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์ที่มีโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะไม่มียาป้องกันหรือรักษาโดยตรง เป็นแล้วจะมีผลทำให้ผลผลิตหัวมันสดลดลง 40-80%
นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช ประธานคณะสำรวจติดตามภาวะการผลิตมันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2566/67 ของ 4 สมาคม (สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการลงพื้นที่สำรวจผลผลิตมันสำหลังเมื่อเร็วๆ นี้ พบเกือบทุกพื้นที่มีการระบาดของโรคใบด่าง คาดจะส่งผลทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังในฤดูการผลิตใหม่ จะมีเพียงประมาณ 20 กว่าล้านตันหัวมันสดเท่านั้น จากที่เคยได้ 30 กว่าล้านตันต่อปี และในฤดูกาลต่อ ๆ ไป หากหน่วยงานรัฐยังคงนโยบายควบคุมแบบเดิม ๆ ผลผลิตหัวมันจะตํ่ากว่า 20 ล้านตันแน่นอน
ขณะที่ความต้องการของตลาดมีสูงกว่า 40 ล้านตัน ประเทศไทยจะต้องสูญเสียรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาทในอนาคตอันใกล้ โดยคาดมูลค่าความเสียหายจากโรคใบด่างฯ ช่วงปี 2564-2575 ณ อัตราคิดลด 6% ของมูลค่าปัจจุบันจะมีความเสียหายรวม 119,400 ล้านบาท ยังไม่รวมผลกระทบความเสียหายในอุตสาหกรรมกลางนํ้า และปลายนํ้าในห่วงโซ่อุปทาน หากยังไม่รีบกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง อนาคตอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยจะลำบากแน่นอน ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลของภาครัฐที่ประเมินการระบาดของโรคตํ่ากว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่มาก
แหล่งข่าวคณะกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังที่มีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ เผยว่า ขณะนี้มีพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานไวรัสใบด่างของมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ซึ่งจะออกมาประมาณปี 2570 โดยได้พันธุ์มาจากสถาบันเกษตรเขตร้อนนานาชาติ IITA จากประเทศไนจีเรีย โดยขอมา 5 พันธุ์ แต่ผลผลิตจะไม่เทียบเท่ากับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ส่วนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานไวรัสของกรมวิชาการเกษตร คาดจะได้ประมาณปี 2572