โอกาสของน้ำมันปาล์มไทย ในตลาดส่งออกใหญ่อย่าง “อินเดีย”

31 ส.ค. 2566 | 23:57 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2566 | 00:17 น.

ปัจจุบัน ไทยสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในอดีตไทยสามารถผลิตได้เพียงพอเพื่อใช้บริโภคในประเทศเท่านั้น แต่ในปัจจุบันสามารถผลิตได้มากขึ้นและพร้อมส่งออกบุกตลาดโลก

 

เมื่อคำนึงว่า “อินเดีย” มีอัตราการบริโภค น้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่มายังอินเดีย เช่น อินโดนีเซียเอง ก็ประสบสภาวะการบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงจำเป็นต้องจำกัดการส่งออก ส่วนมาเลเซียนั้น ก็ไม่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกได้มากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้อินเดียหันมามอง “ไทย” ในฐานะ แหล่งทางเลือกนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ

อินเดียถือเป็นตลาดบริโภคน้ำมันพืชมากเป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน โดยน้ำมันปาล์มในอินเดียส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ใช้ไปเพื่อการประกอบอาหาร (โดยถือเป็นร้อยละ 40 ของน้ำมันประกอบอาหารที่ใช้ทั้งหมดในอินเดีย) ซึ่งน้ำมันประเภทอื่นที่ได้รับความนิยม ก็ได้แก่ น้ำมันถั่ว เหลือง และน้ำมันมัสตาร์ด

น้ำมันปาล์มในอินเดียส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ใช้ไปเพื่อการประกอบอาหาร

อินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มกว่า 2 ใน 3 ของที่บริโภคในประเทศต่อปีโดยส่วนใหญ่มาในรูปแบบน้ำมันดิบ โดยมีคู่ค้าหลัก คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

คาดการณ์ว่าแนวโน้มปีนี้ (2566) อัตราการนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดียมีโอกาสโตร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีก่อน (รวม 9.17 ล้านตัน) 

ทั้งนี้ ข้อดีของการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากไทย ได้แก่

  1. ค่าใช้จ่ายในการขนส่งไม่สูงเพราะไทยและอินเดียไม่ไกลกันมากนัก และสามารถเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของทั้งสองประเทศที่ห่างกันเพียงแค่ทะเลอันดามัน – อ่าวเบงกอล
  2. ไทยและอินเดีย มี FTA ระหว่างกัน จึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากมาเลเซีย ที่ต้องเสียภาษีร้อยละ 8
  3. ไทยสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ น้ำมันปาล์มจากไทยยังมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญเมื่อเทียบกับผู้เล่นหลักอื่น ๆ กล่าวคือ ผู้เล่นหลักของไทยล้วนเป็นรายย่อย ทำให้ไม่เกิดการเอาเปรียบหรือตัดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้รายได้เข้าเกษตรกรสวนปาล์มโดยตรง  

อินเดียหันมามอง “ไทย” ในฐานะ แหล่งทางเลือกนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ

โอกาสของไทย

ปัจจุบันไทยส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังอินเดียถึง 1 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมดต่อปี คิดเป็นกว่า 1 ล้านตันในปี พ.ศ. 2565 และแม้ว่าอินเดียจะมีความพยายามที่จะสร้างพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะในรัฐทางใต้ แต่ด้วยสภาพดินและสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมจึงยากที่จะมีผลิตผลมากพอที่จะไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ น้ำมันปาล์มจากไทยจึงถือเป็นโอกาสใหม่ที่สำคัญสำหรับภาครัฐที่ควรร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมและผลักดันให้เข้ามาในตลาดอินเดียให้มากขึ้น

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี