จากที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการจัดทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั่วประเทศ ล่าสุดกรมธรรม์ที่ทำไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มในปี 2565 ได้สิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 14 ก.ย. 66 เวลา 24.00 น. นั้น
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยผ่านการถ่ายทอดสด (13 ก.ย.66) ในการมอบนโยบายผู้บริหาร-ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตนได้โทรศัพท์ถึงนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะเรื่องการประกันภัย อยากจะให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย ไม่ใช่เฉพาะยางพาราเพียงตัวเดียว
แหล่งข่าวจาก กยท. กล่าวว่า ความคุ้มครองการประกันภัย ปี 2566 จะคุ้มครองเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 จำนวนกว่า 1.6 ล้านราย โดยคุ้มครองทุกช่วงอายุ ได้แก่ 1.เกษตรกรอายุไม่เกิน 20 ปี จำนวน 1,206 ราย 2.อายุเกิน 20 ปี แต่ไม่เกิน 40 ปี จำนวน 2.08 แสนราย 3.อายุเกิน 40 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี จำนวน 8.83 แสนราย 4.อายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกิน 80 ปี จำนวน 5.45 แสนราย และ 5.อายุเกิน 80 ปีขึ้นไป จำนวน 5.8 หมื่นราย
“ปีนี้มี 4 บริษัท เข้ามายื่นประมูล ได้แก่ บมจ.ทิพยประกันภัย ที่ได้รับคะแนนจากคณะกรรมการทีโออาร์สูงสุดด้วยค่าเบี้ย 445 บาท/คน/ปี รวม กว่า 755 ล้านบาท รองลงมา บมจ.เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) เบี้ยประกันภัยต่อปี กว่า 426 ล้านบาท , บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย เบี้ยประกันกว่า 339 ล้านบาท และ บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กว่า 424 ล้านบาท”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เนื่องจากบริษัทผู้เสนอราคาการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มทั้ง 4 ราย เสนอราคาเกินกว่าอำนาจของผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยที่จะอนุมัติ ดังนั้นเพื่อให้การจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มฯ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุ เพื่อเป็นสวัสดิการอื่น ๆ ของเกษตรกรชาวสวนยางประจำปีงบประมาณ 2566 และเพื่อมิให้ขาดช่วงความคุ้มครองแก่เกษตรกรชาวสวนยางและเกิดประโยชน์สูงสุด บอร์ดยังไม่มีการพิจารณาเห็นชอบเรื่องดังกล่าวและได้ส่งเรื่องกลับไปให้ผู้ว่าฯ กยท.ทบทวนใหม่
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าว กยท. ยืนยัน ไม่ทอดทิ้งเกษตรกรชาวสวนยางและกำลังเร่งดำเนินการจัดทำสวัสดิการเพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรฯ และทายาท คุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทประกันภัยยื่นเสนอกรมธรรม์ที่ กยท. ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดิม 406 ล้านบาท เป็น 755 ล้านบาท ดังนั้น กยท. จะต้องพิจารณาวงเงินให้เหมาะสมกับความคุ้มครองอีกครั้ง โดยคำนึงถึงประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับเป็นสำคัญ
ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า แต่ละปีการเก็บ เงินเซสส์ หรือ อัตราค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งออกยาง ส่งนอกราชอาณาจักรต้องชำระ กิโลกรัมละ 2 บาท มีความจำกัด ควรจะจ่ายมุ่งไปรักษาเสถียรภาพราคายางมากกว่า ส่วนประกันชีวิตกลุ่มเห็นด้วยว่าเพราะชาวสวนยางมีศักดิ์ศรี เป็นเงินจ่ายโดยตรง ไม่ใช่งบจากรัฐบาล ตนเชื่อว่าให้เปิดการแข่งขันเสรี ทุกขั้นตอนมีเกษตรกรเข้าร่วมตรวจสอบ โปร่งใส จะมีบริษัทที่จ่ายเบี้ยได้น้อยกว่านี้มาเป็นตัวเลือกมากกว่านี้
สอดคล้องนาย ศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวว่า การที่ กยท.จะไปจ่ายให้กับบริษัทประกันสูงเกินไป ควรเปลี่ยนรูปแบบให้จ่ายประกันเองโดยตรงดีกว่า เพราะ กยท.ก็มีสาขาทั่วประเทศ ไม่ต้องมาเสียค่าบริหารจัดการ คุ้มค่า และได้ใจเกษตรกรด้วย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21-23 กันยายน พ.ศ. 2566
ตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการประกันอุบัติเหตุกลุ่ม ปี 2566