เร่ง "โฉนดเพื่อเกษตรกรรม" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

29 ต.ค. 2566 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 09:19 น.

“อุบลศักดิ์” เตือนเกษตรกร 1.6 ล้านราย หากขาดคุณสมบัติ ส.ป.ก.ยึดคืนที่ดินทั้งหมด ชี้เปลี่ยนเป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” แค่เปลี่ยนชื่อ ไม่สามารถซื้อขายได้เหมือน น.ส.3 แต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ธ.ก.ส. ด้าน “ธรรมนัส” ลุยปรับแก้กฎหมายเร่งออกโฉนดฉบับแรกทัน 15 ม.ค. 67

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในคำแถลงดังกล่าวมีนโยบายให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน มีชีวิตที่มั่นคง พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดให้เข้าถึงแหล่งทุนและนำมาพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะต้องพิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนดตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดิน ส.ป.ก เป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม

 

เร่ง \"โฉนดเพื่อเกษตรกรรม\" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส.ป.ก.จะมีการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อยกระดับที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นโฉนดที่ดิน ได้แก่ 1. (ร่าง) ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือก และจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการ ทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ..ศ. ....

 

2.(ร่าง) ระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน จากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ 3.(ร่าง) ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 6 และข้อ 8 (5) เพื่อรองรับสิทธิผู้ได้รับโฉนด เพื่อเกษตรกรรม ให้สามารถกู้ยืมเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่มีส่วนได้เสีย

 

เร่ง \"โฉนดเพื่อเกษตรกรรม\" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

ทั้งนี้การเปลี่ยนที่ดิน สิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับให้เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ที่มีการถือครองทำประโยชน์เกิน 5 ปีขึ้นไป มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข 1,628,520 ราย มีเอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ในกลุ่มนี้หากมีการจำหน่าย จ่าย โอน ยกเว้นโอนโดยมรดก ทายาทโดยชอบธรรม หากตรวจสอบพบจะขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย ส.ป.ก. ทันที ซึ่ง ส.ป.ก. 4-01 แค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ถ้าจะเป็นโฉนดจริงต้องแก้พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2535 โดยผ่านสภา ถึงจะเป็น "โฉนดที่ดิน" ตามความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ

 

เร่ง \"โฉนดเพื่อเกษตรกรรม\" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

 

สอดคล้องกับนายฉลองชาติ ยังปักษี ผู้แทนเกษตรกร กรรมการใน คปก. กล่าวว่า เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ แต่ยังใช้หลักการเดิม คือไม่ว่าจะทำนิติกรรมอะไรต้องไปขออนุญาตที่ ส.ป.ก.จังหวัดเท่านั้น ต่างกับโฉนดของกรมที่ดิน เช่น น.ส.4, น.ส.3 ที่สามารถซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยอำนาจสิทธิขาดอยู่ที่เจ้าของที่ดิน

แต่ “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” สิทธิยังเป็นของรัฐ ที่ให้สิทธิเกษตรกรอยู่ จะซื้อขายแบบโฉนดที่ดินทั่วไปไม่ได้ โดยจะให้อำนาจ ส.ป.ก.จังหวัดนั้น ๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด(คปจ.) เป็นผู้ยินยอม แต่ถ้าตัดสินใจไม่ได้ก็โยนเรื่องมาที่ คปก. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานจะให้ความเห็นชอบ สรุปง่าย ๆ คือ แค่เปลี่ยนชื่อ แล้วสามารถนำที่ดินเข้าจำนองขอสินเชื่อได้มากกว่า ธ.ก.ส. แต่สถาบันการเงินอื่นจะให้สินเชื่อด้วยหรือไม่ ต้องรอดูว่าหากเปลี่ยนชื่อเป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” แล้วจะให้กู้หรือไม่ ส่วนตรา “ครุฑสีเขียว” ที่จะเป็นตราโฉนดที่ดินของ ส.ป.ก. ตนได้ท้วงติงในที่ประชุมว่าจะไปซํ้าซ้อนกับตราโฉนดของกรมที่ดิน

เร่ง \"โฉนดเพื่อเกษตรกรรม\" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุม คปก. ครั้งที่ 6/2566 (25 ต.ค.66) ว่า การเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นไปตามกรอบระยะเวลาขับเคลื่อนและปรับปรุงกฎหมาย ตามโรดแมป “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม”เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 และจะเริ่มแจกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกได้ทันวันที่ 15 ม.ค. 2567 โดยมีสัญลักษณ์ครุฑสีเขียว

เร่ง \"โฉนดเพื่อเกษตรกรรม\" เตือน 1.6 ล้านราย ขาดคุณสมบัติยึดคืน

สำหรับ “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” หมายความถึง หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูป ที่ดิน สามารถจำนองสิทธิได้ ยกตัวอย่าง กรมธนารักษ์ก็ให้สิทธิการเช่าจำนองได้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต่างจาก ส.ป.ก. ที่จะเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ส.ป.ก. ซึ่งต่อไปจะเห็นว่าการกำกับดูแลพื้นที่ดิน จะมีการบริหารที่ดิน 3 ประเภท ได้แก่ 1. ส.ป.ก. 4-01 2.โฉนดที่ ส.ป.ก.ซื้อที่ดินมาและให้ประชาชน เกษตรกร เช่าซื้อในราคาถูก โดยเป็นโฉนดอยู่แล้ว เป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ และ 3.โฉนดเพื่อเกษตรกรรม ที่เมื่อยกระดับแล้วไม่อยากให้เปลี่ยนมือทันที

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่  3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566