"ภูมิธรรม"สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาน้ำตาลทรายใน 1 เดือน

02 พ.ย. 2566 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2566 | 11:09 น.

"ภูมิธรรม"สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาน้ำตาลทรายใน 1 เดือน หลังหารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อย 4 องค์กร ก่อนที่จะมีการเปิดหีบ ระบุหากได้ข้อสรุปเร็วสามารถดำเนินการได้เลยทันที

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อย 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ 1.สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย 2.ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน 3.สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และ 4.สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบในการจัดตั้งคณะทำงานบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยมีนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นเลขา 

และมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และชาวไร่อ้อย 4 คน รวมเป็นคณะทำงานด้วย โดยให้ประชุมหาข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา 

รวมถึงข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้กรอบเวลาการทำงานภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะมีการเปิดหีบ หากสามารถได้ข้อสรุปเร็วก็สามารถดำเนินการได้ทันที

"เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ได้รับฟังความเดือดร้อน และข้อกังวลของชาวไร่ กรณีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ประกาศให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม"

"ภูมิธรรม"สั่งตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาน้ำตาลทรายใน 1 เดือน

สำหรับประกาศราคาควบคุมน้ำตาล ควบคุมการส่งออกนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไป ส่วนการหาทางออกของปัญหา เชื่อว่าคณะทำงานชุดนี้ จะสามารถหาทางออกร่วมกัน เพื่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ และเกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ 

โดยหากได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วก็ให้เสนอเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรม และการสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการอนุญาตให้นำออกจากบัญชีสินค้าควบคุมก็พร้อมทำให้ได้ แต่ต้องเป็นทางออกของทุกฝ่าย และหารือร่วมกันให้ครบทุกฝ่าย แล้วเท่านั้น โดยกำหนดการประชุมร่วมกันนัดแรกในวันที่ 6 พ.ย.นี้

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่าจากการหารือในวันนี้ สมาคมชาวไร่อ้อยเห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งในระหว่างนี้จะไม่มีการปิดโรงงานหรือระงับการขนน้ำตาลออกจากโรงงานจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 

"ยืนยันว่า ประเทศไทยมีน้ำตาลเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอจากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 50 โรงงาน เพราะมีการควบคุมการเบิกจ่ายน้ำตาลอย่างเข้มงวด และขณะนี้ยังไม่พบการลักลอบลำเลียงส่งออกน้ำตาลแต่อย่างใด"