คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่มีนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เป็นประธานได้เร่งผลักดันนโยบายขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 สาขา ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น ซึ่งจะมีการจัดประชุมครั้งต่อไปปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนนำเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และของบประมาณเพื่อดำเนินการต่อไป
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อาหารไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญของประเทศ โดยหลาย ๆ เมนูเป็นที่รู้จัก และได้รับการจัดอันดับติดอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น มัสมั่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง พะแนง และยังมีเมนูใหม่ ๆ ตามมาอีกมากมาย ที่ผ่านมาอาหารไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในตัวเองอยู่แล้ว ผ่านชาวต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาทำธุรกิจ และอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับอาหารไทยในแต่ละมื้อว่าจะทานอะไรดี
นอกจากนี้ยังมีอินฟลูเอนเซอร์และศิลปินชื่อดังระดับโลก เช่น ลิซ่า ที่โพสต์อาหารไทย เช่น ลูกชิ้นยืนกิน ตำมะม่วง รวมถึงขนมไทยต่าง ๆ ทำให้อาหารไทยได้รับการกล่าวขวัญ และสรรหามารับประทาน ขณะเดียวกันในยุคโซเชียล นักท่องเที่ยวยังสามารถสั่งอาหารมารับประทานผ่านแอปต่าง ๆ ยิ่งทำให้สามารถเข้าถึงอาหารไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้า ภัตตาคาร ร้านอาหาร สตรีทฟู้ด รวมถึงคนไทยในภาพรวมทั้งในภาคเกษตร และภาคบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้รับอานิสงส์
“ถ้ามีโอกาสนำเสนอคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ด้านอาหาร จะขอนำเสนอและผลักดันโลคอล อินกริเดี้ยน หรือวัตถุดิบ ส่วนประกอบ และสิ่งปรุงรสต่าง ๆ ที่มาจากท้องถิ่นเพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จักและสามารถนำไปปรุงรับอาหารทานเองที่บ้านได้ (Ready to Cook) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบ รวมถึงโรงงานแปรรูปอาหาร และเครื่องปรุงรสแบบไทยแท้ได้อีกมหาศาล”
ในขั้นต่อไปยังสามารถเพิ่มมูลค่า และรายได้จากอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ที่เน้นโปรตีนจากพืชแทนเนื้อสัตว์ อาหารสำหรับกลุ่มเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) เช่น เด็ก ผู้สูงวัย นักกีฬา กลุ่มผู้ทานมังสวิรัติ และผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมถึงอาหารตามหลักศาสนา เช่น ไม่ทานเนื้อสัตว์บางประเภท เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าโอกาสซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของไทยยังมีอีกมากในอนาคต
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% สำหรับในปี 2566 คาดการณ์ ณ เดือนพฤศจิกายน การส่งออกอาหารไทยในภาพรวมมีโอกาสจะขยายตัวได้ถึง 3% (มูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท)เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 0 % ถึง 2% จากเงินบาทอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยที่ราคาไม่แพงมาก แข่งขันด้านราคาได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ส่งออกได้มูลค่าเพิ่มขึ้น และจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว คนทั่วโลกยังต้องบริโภคอาหาร
ส่วนปี 2567 การส่งออกสินค้าอาหาร คาดหวังว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ เพราะสต๊อกของผู้นำเข้าจะลด หรือหมดลง จำเป็นต้องนำเข้าเพิ่ม และมองว่าหากสถานการณ์อิสราเอล-ฮามาสคลี่คลายลง ไม่ขยายวง เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะฟื้นตัวได้ขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น