เปิด 10 อันดับยักษ์ส่งออกไทย “โตโยต้า-เวสเทิร์นฯ” ผู้นำ 9 เดือนแรก

22 พ.ย. 2566 | 07:20 น.
อัพเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 07:32 น.

“โตโยต้า มอเตอร์ฯ”นำเบอร์ 1 ส่งออกไทย 9 เดือนแรก ตามด้วยโตโยต้า ไดฮัทสุฯ-เวสเทิร์น ดิจิตอล สรท.คาดส่งออกไทยปี 66 ยังติดลบ 1.5% แม้ 5 เดือนสุดท้ายตัวเลขบวก ชงรัฐดัน “3 เร่ง” เร่งสร้างตลาดใหม่ เร่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เร่งสานต่อรับมือกฎระเบียบคู่ค้า ดันส่งออกปี 67 โตได้ 2%

ส่งออกไทย 9 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่า 213,069.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(7.26 ล้านล้านบาท) ลดลง -3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการตรวจสอบข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบผู้ส่งออกไทยใน 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) เรียงตามลำดับ ดังนี้

1.บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (บจก.) ผู้ส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รายใหญ่ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 20 พ.ย. 2566 บริษัทมีรายได้รวม 492,313.03 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 26,915.10 ล้านบาท

2.บจก.โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย. 2566 บริษัทมีรายได้รวม 490,611.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,242.58 ล้านบาท 3.บจก.เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจากกรมพัฒน์ฯ บริษัทรายงานงบการเงินล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 274,017.99 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52,883.76 ล้านบาท

4.บจก.ซิเลซติกา (ประเทศไทย) ส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัทรายงานงบการเงินล่าสุดปี 2564 มีรายได้รวม 70,579.72 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,277.52 ล้านบาท 5.บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ส่งออกอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้า รายงานงบการเงินล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 105,207.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15,986.39 ล้านบาท

เปิด 10 อันดับยักษ์ส่งออกไทย “โตโยต้า-เวสเทิร์นฯ” ผู้นำ 9 เดือนแรก

6.บจก.ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ รายงานงบการเงินล่าสุดในปี 2565 มีรายได้รวม 145,636.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,313.72 ล้านบาท 7.บจก.อีซูซุมอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) ส่งออกรถยนต์อะไหล่และชิ้นส่วน ข้อมูลจากกรมพัฒน์ฯ ณ วันที่ 20 พ.ย. 2566 บริษัทมีรายได้รวม 110,813.64 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,242.85 ล้านบาท

8.บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม รายงานงบการเงินล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 122,255.86 ล้านบาท กำไรสุทธิ 810.29 ล้านบาท 9.บจก.ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รายงานงบการเงินล่าสุดปี 2565 มีรายได้รวม 180,663.49 ล้านบาท กำไร 5,318.43 ล้านบาท และ 10.บมจ.ไออาร์ซีพี ส่งออกปิโตรเลียม ปิโตรเคมี บริษัทรายงานงบการเงินล่าสุดในปี 2565 มีรายได้รวม 317,394.59 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,498.53 ล้านบาท

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุสินค้าส่งออกในกลุ่ม 10 อันดับแรกของไทยที่ยังขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+7.15%), แผงวงจรไฟฟ้า (+6.35%) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+29.48%)

ส่วนสินค้าที่ส่งออกลดลงหรือติดลบ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-18.62%), อัญมณีและเครื่องประดับ (-9.54%), ผลิตภัณฑ์ยาง (-6.17%), น้ำมันสำเร็จรูป (-12.08%), เม็ดพลาสติก (-20.31%), เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ (-2.27%) และเคมีภัณฑ์ (-18.70%)

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกของไทยมีทิศทางแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือนในสิงหาคม (+2.6%) ต่อเนื่องเดือนกันยายน (+2.1%) และใน 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้คาดจะขยายตัวเป็นบวก โดยไตรมาสที่ 4 /2566 คาดส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 5-7% จากฐานตัวเลขการส่งออกที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีทั้งปี 2566 สรท.คาดส่งออกไทยจะยังติดลบที่ 1.5%

สำหรับสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในเวลานี้ ได้แก่ รถยนต์ ข้าว อาหาร น้ำตาลทราย เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ จากโลกยังมีความต้องการ และคาดจะยังขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567

ทั้งนี้ในปี 2567 สรท.คาดการณ์การส่งออกในเบื้องต้นจะขยายตัวได้ที่ 2% ปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา สินค้ารถยนต์ตลาดยังมีความต้องการ และไทยยังสามารถผลักดันการส่งออกได้ดี สินค้าเกษตรไทยยังทำราคาได้และส่งออกได้ตามปริมาณที่กำหนด เช่น ข้าว ผลไม้ น้ำตาล นอกจากนี้เป็นผลจากการประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในบางประเทศ

 อย่างไรก็ตาม สรท.ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออกในปี 2567 ต่อภาครัฐ โดยยึดหลัก “3 เร่ง” คือ 1.เร่งสร้าง (สร้างตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา เอเชียกลาง,สร้างตลาดอี-คอมเมิร์ซ)

 2.เร่งเสริม (เสริมซอฟต์พาวเวอร์, เสริมงบประมาณการขยายตลาดใหม่, เสริมสภาพคล่องทางการเงิน) และ 3.เร่งสานต่อ (แก้กฎหมาย 17 ฉบับ เพื่อ Transshipment หรือการถ่ายลำสินค้า การให้ความรู้และเตรียมพร้อมรับมือกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM และ EUDR, การอำนวยความสะดวกค้าชายแดน)