สถานการณ์การผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารในรอบปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และแนวโน้มปี 2567 จะไปได้ดีแค่ไหน มีปัจจัยบวก-ลบอย่างไร “นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ฉายภาพผ่าน “เศรษฐกิจ”ให้เห็นกันชัด ๆ
นายวิศิษฐ์ เผยว่า ข้อมูล 10 เดือนแรกปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 1.31 ล้านล้านบาท เติบโต 3.2% ประเทศที่ส่งออกไปมาก ได้แก่ จีน (+21%), อาเซียน (+6%), ญี่ปุ่น (-4%) และสหรัฐอเมริกา (-13%) ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรอาหาร 6.6 แสนล้านบาท เติบโต 9.5% สินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+30.5%), ข้าว (+24.6%), ไก่สด แช่แย็น แช่แข็ง และแปรรูป (+0.05%), ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-13.3%), กุ้ง(-7.7%) และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 6.5 แสนล้านบาท หดตัว 2.5% สินค้าที่ส่งออกมาก ได้แก่ นํ้าตาลทรายและกากนํ้าตาล (+9.7%), อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-10.5%), ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ (-3.2%), อาหารสัตว์เลี้ยง (-16.5%), เครื่องดื่ม (+2.4%)
“การส่งออกสินค้าอาหารทั้งปี 2566 ประเมินว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกล่าวไว้ที่ 1.55 ล้านล้านบาท โดยจากยอดการส่งออก 10 เดือนแรกประเมินว่ากรณีที่ดีที่สุดอาจเติบโตได้ถึง 7% หรือมีมูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท และกรณีแย่ที่สุดก็ยังเติบโตได้ไม่ตํ่ากว่า 0.6% หรือมีมูลค่า 1.52 ล้านล้านบาท มีปัจจัยบวก เช่น ประเทศคู่ค้าได้สั่งซื้อสินค้าเพื่อรองรับในช่วงเทศกาลปลายปี ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าและพื้นที่เรือเริ่มเข้าสู่สมดุล ส่วนปัจจัยลบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐ ยุโรป และจีนที่ยังชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยสูงทั่วโลก กดดันอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบ”
ในส่วนของสถานการณ์การส่งออกของอาหารอนาคตใน 10 เดือนแรก ไทยส่งออกสินค้า Future Food มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท หดตัว -0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดย Future Food คิดเป็นสัดส่วน 8.2% ของอาหารทั้งหมด คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2566 จะมีมูลค่าราว 1.3 แสนล้านบาท และคาดมีการเติบโต ราว 0.5-1% เนื่องจากในไตรมาส 4 คาดว่าภาพรวมการส่งออกอาหารจะขยายตัว จากปัจจัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งเป็นช่วงเทศกาลและการท่องเที่ยว
นายวิศิษฐ์กล่าวอีกว่า คาดการณ์ส่งออกอาหารไทยปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2566 (เบื้องต้น 3 องค์กรได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส.อ.ท.,หอการค้าไทย และสถาบันอาหาร คาดจะส่งออกได้ 1.65 ล้านล้านบาท)มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าที่มีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
ส่วนปัจจัยในประเทศที่จะส่งผลให้ยอดการส่งออกเติบโตได้ ได้แก่ นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลง, นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ, การเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มีการวางแผนบริหารจัดการนํ้ารับมือภัยแล้ง รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานสินค้าของไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยมากขึ้น
ทั้งนี้สินค้าอาหารที่คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2567 ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง, เครื่องดื่ม, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผลิตภัณฑ์ข้าว, นมและผลิตภัณฑ์นม, ไอศครีม, ถั่ว ธัญญพืช และกาแฟ
“ปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลก ส่วนจีนแซงเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลกขณะที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อันดับตกลง ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ยกเว้นเวียดนามที่อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับ”
ในส่วนของการส่งออก Future Food หรืออาหารอนาคตปี 2567 คาดจะอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท ขยายตัวราว 3% จากปี 2566 มีปัจจัยบวกจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลง หลังรัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า,สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร, เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย, เศรษฐกิจของคู่ค้าอาหารอนาคตไทยที่สำคัญอย่างตลาดเอเชีย เช่น อาเซียน ที่มีสัดส่วนทางตลาดมากกว่า 40 % มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี รวมทั้งตลาดเป้าหมายใหม่อย่างตะวัน ออกกลางมีการขยายตัวที่ดี และเทรนด์การบริโภคยังคงไว้ซึ่งเรื่องของสุขภาพและความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่อาหารอนาคตตอบโจทย์
ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือราคาของสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามปรากฎการณ์เอลนีโญ, ความท้าทายด้านราคาพลังงานส่งผลต่อต้นทุนต่างๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น,ภัยแล้งจากเอลนีโญ ส่งผลต่อต้นทุนราคาวัตถุดิบและการแข่งขันทางด้านราคา และยังต้องติดตามมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ของคู่ค้า และภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไปอย่างใกล้ชิด