นฤมลเผยกลุ่มบริษัท TORAY สนใจขยายลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในไทยเพิ่ม

21 ก.พ. 2567 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2567 | 04:54 น.

“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”ผู้แทนการค้าไทย เผยกลุ่มบริษัท TORAY (โทเร) สนใจขยายการลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในไทยเพิ่มขึ้น

วันนี้ (21 ก.พ.67) เวลา 10.30 น. ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย หารือกับ นายมาซาฮิเดะ มัตซึมูระ Vice President บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ประเทศญี่ปุ่น และ ประธานกลุ่มบริษัท TORAY โทเรในประเทศไทย พร้อมกับ นายมาซาฮิโร คิมูระ กรรมการผู้จัดการบริษัท Cellulosic Biomass  Technology (CBT) หารือถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทฯ ในประเทศไทย

                   นฤมลเผยกลุ่มบริษัท TORAY สนใจขยายลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในไทยเพิ่ม

ผู้แทนการค้าไทย  กล่าวว่า  TORAY (โทเร) เข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2506 โดยการตั้ง บริษัท ไทยโทเร เท็กซ์ไทล์ มิลลส์ จำกัด (TTTM) ต่อมาในปี 2562 TTTM ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท ลัคกี้เท็คซ์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) กลายเป็น บริษัท โทเร เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 

โทเรได้ขยายธุรกิจเพื่อสนับสนุนการผลิตในแนวดิ่งในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มโทเรจำนวน 9 บริษัท (โรงงาน 12 แห่ง) ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัท Toray เป็นบริษัทญี่ปุ่นรายสำคัญที่มีการลงทุนในไทยอันดับต้น ๆ มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งสิ้น 32 โครงการ

                 นฤมลเผยกลุ่มบริษัท TORAY สนใจขยายลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในไทยเพิ่ม

ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการหารือกับ นายมาซาฮิเดะ มัตซึมูระ กลุ่มบริษัท TORAY (โทเร) มีความสนใจขยายลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ ซึ่งเป็นการแปรรูปชีวมวลด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based product) ประเภทต่าง ๆ 

เช่น ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ สารชีวภาพที่ให้คุณสมบัติพิเศษสำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง และ ยา  

โดยในปี 2566 ได้ลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.2 billion yen ในบริษัท CBT ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตอีก 10 เท่า จึงกำลังพิจารณาวางแผนลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

                     นฤมลเผยกลุ่มบริษัท TORAY สนใจขยายลงทุนอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในไทยเพิ่ม

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท TORAY (โทเร) ยังมีความสนใจและพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก ในผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรม (Engineering Plastics) ซึ่งเป็นกลุ่มพลาสติกที่ผ่านกรรมวิธีการปรับแต่งโครงสร้างทำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูงขึ้น สืบเนื่องจากการขยายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีการนำพลาสติกวิศวกรรมมาขึ้นรูปเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ  และอาจจะลงทุนเพิ่มในเรื่องการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในสายการผลิตเดิม 

“รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมสีเขียว ผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัท TORAY (โทเร) ในประเทศไทย ถือเป็นการตอบโจทย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวของรัฐบาล” ผู้แทนการค้าไทย ย้ำ