“มันสำปะหลัง” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีเกษตรกรผู้ปลูกมันฯประมาณ 7 แสนครัวเรือน ก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน โดยไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลกมานานกว่า 20 ปี มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทต่อปี และใช้ภายในอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีมูลค่ารวมทั้งอุตสาหกรรมประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี และยังมีมูลค่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากกว่า 3 แสนล้านบาท
ล่าสุดในปี 2566 ไทยมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 8.65 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีปริมาณ 11.24 ล้านตัน หรือลดลง 30 % ส่วนด้านมูลค่ามีการส่งออก 1.27 แสนล้านบาท จากปี 2565 ส่งออก 1.52 แสนล้านบาท หรือลดลง16.62 % มีปัจจัยสำคัญจากโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาด กระทบผลผลิตลดลง ปัจจุบันไม่มีสารเคมีตัวใดสามารถกำจัดโรคนี้ได้ แต่มีพันธุ์มันสำปะหลังใหม่ต้านทานโรค 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1,2 และ 3 ซึ่งเป็นของมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยที่จะส่งมอบให้สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยจำนวน 1 ล้านลำเพื่อนำไปแจกจ่ายเกษตรกรปลูกในปี 2567
นายชุมพล ขจรเฉลิมศักดิ์ นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากผลกระทบโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ถึงเวลานี้ได้เข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ซึ่งผลกระทบจากการระบาดของโรคคาดจะส่งผลต่อผลผลิตหัวสดในปี 2567 (เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ ต.ค. 2566- ก.ย. 2567)ลดลง 30% และการส่งออกจะลดลง 30% เช่นเดียวกัน และมีแนวโน้มจะลดต่อเนื่องหากไม่สามารถแก้ไขได้ทันการณ์ซึ่งจะกระทบกับการจ้างงานในอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
ทั้งนี้ทางสมาคมแป้งมันฯ เป็นผู้ใช้ผลผลิตมากที่สุดเกือบ 20 ล้านตันจากผลผลิตที่เคยมี 34 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันเหลือ 24 ล้านตัน หายไป 8 ล้านตัน ดังนั้นหากเกษตรกรไม่ปลูกก็จะส่งผลกระทบต่อโรงงานแป้งมันโดยตรง เวลานี้หลายโรงในหลายพื้นที่ได้ประกาศขายกิจการ จากเกษตรกรเลิกปลูกมัน หันไปปลูกทุเรียน หรือลำไยแทนจากมีรายได้ดีกว่า เกรงว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะลดลงเรื่อย ๆ และกระทบโรงงานทยอยปิดตัวในพื้นที่จังหวัดที่มีการแข่งขันสูง และไปไม่ไหว อีกด้านหนึ่งก็มีโรงงานเกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีในแถบกำแพงเพชร เชียงราย เพชรบูรณ์ และกาญจนบุรี เป็นต้น เพราะในจังหวัดดังกล่าวโรงงานยังมีน้อย อย่างไรก็ดีจากวัตถุดิบ และผลผลิตที่มีน้อยส่งผลให้ราคาแป้งมันเวลานี้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 19.10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) สูงสุดในรอบ 7 ปี
ขณะที่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในขณะนี้ถือว่าเสียเปรียบในการแข่งขัน โดยอินโดนีเซีย และเวียดนามมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า ขณะที่เวียดนามมีพันธุ์ต้านทานโรคใช้ปลูกในประเทศ ขณะที่ไทยยังไร้เจ้าภาพโดย4 สมาคมมันสำปะหลังได้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง หรือ นบมส. เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากโรคใบด่าง แต่เรื่องก็ยังเงียบ
“สถานการณ์ตลาดส่งออกแป้งมันเวลานี้ขายดีมากตลาดปลายทางมีเท่าไรรับซื้อไม่อั้น (แป้งมันไทยมีตลาดใหญ่ที่จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน)จากไทยขายของดีมีคุณภาพ เป็นแป้งเกรดพรีเมียมดีกว่าคู่แข่ง แต่ตอนนี้ไม่กล้าขาย เพราะกลัวรับออร์เดอร์แล้วไม่มีของส่งมอบ ส่วนลูกค้าก็ซื้อแค่พอใช้ไม่เก็บสต๊อก ดังนั้นทางสมาคมไม่รอรัฐบาลแล้วจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงขันกันเองในหมู่สมาชิกเพื่อซื้อพันธุ์ต้านทานโรคแจกเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตในประเทศ ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมเสี่ยงล่มสลาย”
สอดคล้องกับนายจเร จุทารัตนกุล ผู้อำนวยการใหญ่มูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมมันสำปะหลังห่วงจะซ้ำรอย “ปอ” พอเกษตรกรเลิกปลูก โรงงานไม่มีวัตถุดิบผลิตก็ต้องปิดตัวลง เวลานี้เริ่มมีสัญญาณ โดยคณะสำรวจได้มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตมันสำปะหลังของไทยจะลดเหลือเพียง19 ล้านตันดังนั้นทุกฝ่ายต้องเร่งร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ที่ผ่านมามีการปกปิดข่าว ต่อมายอมรับว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ก็ใช้วิธีการทำลายซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาเพราะโรคยังอยู่กับท่อนพันธุ์ ดังนั้นต้องใช้ท่อนพันธุ์ใหม่ต้านทานโรคส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทั่วประเทศ อย่าไปหลงเชื่อคำโฆษณาว่าจะมีสารเคมีมาแก้โรค ยืนยันว่าไม่มียารักษา ไม่เช่นนั้นจะเสียเงินฟรี
ด้านนายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาร้องใบด่างมันสำปะหลัง ที่มีนายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน (25 ม.ค.67) ในที่ประชุมได้เห็นชอบงบประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ไร่ละ 15,000 บาท จำนวน 1 แสนไร่ ขอผ่อนผันคืนในระยะเวลา 5 ปี ในการผลิตพันธุ์ต้านทานโรคมันสำปะหลังจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย ปี 2567/68 จำนวน 2 ล้านลำ พร้อมระบบน้ำหยดจะได้ไม่เกิดความเสียหายจากภัยแล้ง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,972 วันที่ 7-9 มีนาคม พ.ศ. 2567