วันนี้ (12 มี.ค. 67) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนาย JU, Jae-ha ผู้แทน บริษัท Korea Land & Housing Corporation (LH) ถึงความคืบหน้าการเข้ามาลงทุนในนิคมอุสาหกรรมภาคตะวันออกของไทย จากประเทศเกาหลีใต้
ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า จากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ นายยุน ซ็อค ย็อล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 ที่ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามผลการหารือแบบทวิภาคีของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ โดยบริษัท LH เนื่องจากเป็นโครงการที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้
ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า บริษัท LH เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคม (Ministry of Land, Infrastructure, and Transport (MOLIT)) ได้แสดงความประสงค์เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเข้ามาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
จากการหารือในวันนี้ ทาง กนอ. และบริษัท LH บรรลุข้อตกลงที่จะเลือกจังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของเกาหลีใต้ ทำให้สะดวกต่อการบริหารจัดการมากที่สุด
โดยทางผู้บริหารบริษัท LH จะเดินทางมาดูสถานที่ก่อสร้างภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ และจะนำบริษัทต่าง ๆ ที่มีความประสงค์เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม มาดูพื้นที่อีกครั้งภายในเดือนเมษายน ซึ่งหากได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่ ปลายปีนี้ทางประเทศเกาหลีใต้จะเดินหน้าลงทุนตามแผน
“รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และทีมไทยแลนด์ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ ในพื้นที่ EEC ในรูปแบบการร่วมทุนภายใต้ Economic Innovation Partnership Program (EIPP) ระหว่าง กนอ. บริษัท LH และบริษัทเอกชนไทย ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 6,000 ล้านบาท
แต่จะสร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจเพิ่มอีกมหาศาล เพราะจากการสำรวจเบื้องต้น มีบริษัทขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ สนใจจะเข้ามาดำเนินกิจการในนิคมนี้อย่างน้อย 56 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท Hyundai และ KIA ด้วย
ในระยะถัดไป บริษัทขนาดกลางและเล็กของเกาหลีใต้ ก็จะตามเข้ามาลงทุนในนิคมนี้เพิ่มเติมอีก นิคมนี้จึงเป็นโครงการที่มีนัยสำคัญต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากจะช่วยสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย และ เกาหลีใต้ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ยังจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก” ผู้แทนการค้าไทยย้ำ