วันที่ 22 มิถุนายน 2567 แหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประเมินความต้องการอาหารสัตว์ไทยปีละประมาณ 20 ล้านตัน มีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 8.37 ล้านตัน โดยผลิตในประเทศได้ปีละ 4.89 ล้านตัน ส่วนหนึ่งต้องนำเข้า เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.3 ล้านตัน วัตถุดิบทดแทนอีก 2.15 ล้านตัน และอื่น ๆ รวมมูลค่าที่นำเข้าในปี 2566 กว่า 1.16 แสนล้านบาท
ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการจัดทำโครงสร้างราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต เพื่อรักษาระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีเสถียรภาพนั้น ในส่วนภาคเกษตรกร ทางผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา เสนอให้ประกันราคารับซื้อราคาเดียวทั้งประเทศ ทุกเมล็ดที่ ราคา 9 บาท/กิโลกรัม
ในส่วนของสมาคมการค้าพืชไร่ ทางกรมการค้าภายใน ก็ได้เรียกมาหารือพร้อมกันกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ต่างเห็นพ้องว่าในช่วงฤดูการผลิตใหม่นี้จะมีการประกันราคาข้่วโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรในราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม เป็นข้าวโพดแห้ง และบวกค่ารถขนส่งอีก 75-80 สตางค์ เป็นราคาถึงหน้าโรงงาน 9.80 บาทต่อกิโลกรัม แต่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่ยอมให้ราคาดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า ราคา 9.75 บาทต่อกิโลกรัมก็เพียงพอแล้ว ขณะผู้ค้าพืชไร่ก็เห็นชอบบวกค่ารถ 80 สตางค์
"ในเรื่องนี้ ผู้ค้าพืชไร่ก็ไม่เข้าใจ แค่ 5 สตางค์ ทำไมไม่ให้ มองว่าใจแคบมาก ทั้งที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์บอกว่าในประเทศข้าวโพดไม่เพียงพอยังขาดอีกมาก และย้ำแต่จะให้ยกเลิกมาตรการ 3 :1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) อย่างเดียวให้ได้"
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากตลาดชิคาโก หรือ Chicago Mercantile Exchang (CME) และ Chicago Board of Trade (CBOT) ซึ่งเป็นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า รายงาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้สั่งซื้อข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ จำนวน 2.2 ล้านบุชเชล หรือประมาณ 6 หมื่นตัน จากยูเครน โดยสินค้าจะส่งถึงในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคมนี้ จึงทำให้ถึงบางอ้อว่าทำไมทางสมาคมฯถึงได้มีความพยายามที่จะยกเลิกมาตรการ 3 :1 ให้ได้
ขณะเดียวกัน ยังเบี่ยงเบนให้สังคมหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เข้าใจว่าถ้ายกเลิกมาตรการ 3 : 1 แล้วจะทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ถูกลง ดังนั้นเพื่อปกป้องเกษตรกรไทย ซึ่งไม่ใช่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่านั้น ยังมีเกษตรกรอื่น ๆ อีกที่จะได้รับผลกระทบหากให้มีการเปิดนำเข้าข้าวสาลีอย่างเสรี จะทำให้สินค้าเกษตรกรไทยได้รับความเดือดร้อน เพราะผู้นำเข้าอาจเลิกใช้สินค้าในประเทศ และนำเข้าธัญพืชราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาถล่มตลาดในประเทศทำให้เกษตรกรขาดทุน
อย่างไรก็ดีข้อเสนอให้มีการขยายตลาดและควบคุมการนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าเกษตรเลี้ยงสัตว์ที่ไม่จำเป็นเพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบเพียงพอ และควรยกเลิกการนำเข้าข้าวสาลีเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรกรไทย หากนำเข้าต้องมีเหตุจำเป็น เช่น กรณีขาดแคลนหรือฉุกเฉินเท่านั้น
อ้างอิงรายงานตลาดชิคาโก ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2567