ชาวนาขอบคุณรัฐบาล ไฟเขียว "ปุ๋ยคนละครึ่ง" กรมการข้าวคาดถึงมือ 15 ก.ค.

25 มิ.ย. 2567 | 08:55 น.

นายกสมาคมชาวนาฯ ขอบคุณ “รัฐบาลเศรษฐา” เดินหน้าตามสัญญา จัดหา "ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง" ลดต้นทุนชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือน “อธิบดีกรมการข้าว” ยันความพร้อม แจงไทม์ไลน์ละเอียดยิบ คาดปุ๋ยถึงมือเกษตรกร 15 ก.ค.นี้

ข้าวเป็นพืชอาหารหลักของคนไทย เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร และเป็นสินค้าสำคัญของประเทศในด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยส่งออกข้าวมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาททุกปี ในด้านสังคมมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 16 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพารายได้จากการปลูกข้าว อีกทั้งการปลูกข้าวยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมและประเพณีของชาติมากมายที่เกี่ยวข้องกับการทำนา ด้านสิ่งแวดล้อม การปลูกข้าวทำให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สำคัญ

ไทย เป็นประเทศส่งออกข้าวลำกัดต้นของโลก

 

ในอดีตประเทศไทยส่งออกข้าว คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกข้าวของโลก และเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมีมูลค่าสูงกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งประเทศประมาณ 70ล้านไร่ (ข้าวนาปีประมาณ 60 ล้านไร่ และข้าวนาปรังประมาณ 10 ล้านไร่) โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง) ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่สำคัญของประเทศมีการปลูกมากถึง 22.30 ล้านไร่ แต่มีผลผลิตเฉลี่ยค่อนข้างต่ำประมาณ 413 กิโลกรัมต่อไร่ จากพื้นที่ในการปลูกส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน เมื่อเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตข้าว

 

อีกทั้งในระหว่างการทำนาข้าว เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาทั้งโรค และแมลงศัตรูพืช และวัชพืชทำให้ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ส่งผลมีต้นทุนเพิ่มขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกเริ่มลดลง จากเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 หล่นลงมาอยู่อันดับ 2-3 ของโลกในปัจจุบัน

ล่าสุดรัฐบาลได้มีนโยบายในการช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยแบบมีส่วนร่วม

 

ชาวนาขอบคุณรัฐบาล ไฟเขียว \"ปุ๋ยคนละครึ่ง\" กรมการข้าวคาดถึงมือ 15 ก.ค.

โดยสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” ผ่านโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68  และวันนี้ (25 มิ.ย.67) คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน โดยใช้จ่ายจากเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความโครงการฯ 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท โดยจะใช้งบประมาณเพื่อการนี้กว่า  2.9 หมื่นล้านบาท 

 

  ชาวนาขอบคุณรัฐบาล ไฟเขียว \"ปุ๋ยคนละครึ่ง\" กรมการข้าวคาดถึงมือ 15 ก.ค.

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอขอบคุณรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมการข้าว ที่เดินหน้าโครงการนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนในเรื่องค่าปุ๋ยให้แก่เกษตรกรทั่วไป และผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดีขอให้รัฐบาลเร่งจ่ายปุ๋ยให้เร็วขึ้น เนื่องจากเวลานี้ชาวนาในบางพื้นที่เริ่มปลูกข้าวกันแล้ว

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

 

ด้านนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว และในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภาพโครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว  กล่าวว่า จากเป้าหมายของรัฐบาลจะสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ซึ่งโครงการสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์คนละครึ่ง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องการช่วยชาวนา และสร้างเข้มแข็ง ในราคาไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (โดยรัฐช่วยเหลือค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่งไม่เกิน 500 บาทต่อไร่) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และสนใจเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน ดังนี้

1. เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่

 2. เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 0.20 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร่

โดยปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้ง ถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย และชีวภัณฑ์ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

มีเป้าหมายผลลัพธ์ (Outcomes) ดังนี้

1. ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่โดยเฉพาะค่าปุ๋ยและค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืชลดลง 448 บาทต่อไร่

2. ผลผลิตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 2564 – 2566

 - ข้าวนาปีผลผลิตเฉลี่ย 444 กก./ไร่ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 (533 กก./ไร่)

- ข้าวนาปรังผลผลิตเฉลี่ย 648 กก./ไร่ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 (778 กก./ไร่)

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐจากการดำเนินงานโครงการไร่ละ 1,000 บาท ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท

(เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท – 29,980 ล้านบาท)

 

ไทม์ไลน์ "ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง"

ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ

1. ครัวเรือนเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน

2. พื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับส่งเสริมและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลดต้นทุนผลิตข้าว 55.20 ล้านไร่ 

ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ

1.เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวเฉพาะค่าปุ๋ยและค่าสารป้องกันกำจัด ศัตรูพืชได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากค่าเฉลี่ยต้นทุนเฉพาะค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ต่อไร่

 2.ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ต่อปี (เทียบกับโครงการไร่ละ 1,000 บาทฯ)

4.กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (ตามพื้นที่การปลูกจริง)

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า วันนี้ได้มีประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องทันที หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการ พร้อมกับมีกรอบระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน อาทิ  วันที่ 28 มิถุนายน จะแถลงข่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์  วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ประชุมชี้แจงกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ พร้อมราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์  เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ได้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นี้