จีนลุยพัฒนาข้าวโพด GMO เพิ่มผลผลิตในประเทศ สนค.แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

27 มิ.ย. 2567 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 06:00 น.

สนค. ติดตามสถานการณ์ข้าวโพด GMO ของประเทศจีน เร่งเพิ่มผลผลิตในประเทศหนุนการปลูกในพื้นที่ 8 มณฑล และคาดการณ์ว่าปี 67 พท้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 4.17 – 6.25 ล้านไร่ แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือผลกระทบส่งออกมันสำปะหลังเร่งปรับตัวธุรกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์การวิจัยและพัฒนาข้าวโพด GMO ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการวิจัยดังกล่าวครั้งแรกในปี 2540 โดยสามารถวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดที่ต้านทานแมลงศัตรูพืชได้ และจีนได้ดำเนินการวิจัยด้านดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เริ่มเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพด GMO มาตั้งแต่ธันวาคม 2563 

ทั้งนี้ปี 2566 จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวโพด อันดับ 1 ของโลก มีปริมาณ 27.14 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,017.99 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26.99% จากปีก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าจากประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวโพดซึ่งใช้พันธุ์ข้าวโพด GMO ที่สำคัญของโลก และในปีเดียวกันจีนมีผลผลิตข้าวโพดในประเทศรวม 288.84 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนปี 67-68 คาดว่าจีนจะมีปริมาณผลผลิตข้าวโพดอยู่ที่ 296 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4%

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

จะเห็นว่าปริมาณผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศของจีนยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวโพดเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทั้งการวิจัยและพัฒนาข้าวโพด GMO ของจีน เพื่อการต่อสู้กับโรคและศัตรูพืช และต้องการเพิ่มปริมาณข้าวโพดเพื่อความมั่งคงด้านอาหารและการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านธัญพืช ลดการใช้ยาฆ่าแมลง ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการเพาะปลูก

ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรภายในประเทศที่สำคัญตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2567 จีนได้ออกประกาศรายการข้าวโพด GMO 37 สายพันธุ์ จาก 24 บริษัทและหน่วยงานวิจัย ที่สามารถนำไปเพาะปลูกได้ใน 8 มณฑลของจีน ประกอบด้วย 

  • มองโกเลียใน 
  • กานซู 
  • เหอเป่ย 
  • จี๋หลิน 
  • เหลียวหนิง 
  • กว่างซี 
  • เสฉวน 
  • ยูนนาน 

 

ข้าวโพด GMO

 ซึ่งใน 4 มณฑลแรก สามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพด GMO ได้ในทุกพื้นที่ จึงคาดว่าจีนจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด GMO เพิ่มขึ้นเป็น 4.17 – 6.25 ล้านไร่ ในปี 67 

 

และล่าสุด รัฐบาลจีนได้เอกสารแนวทางการพัฒนาชนบท และภาคการเกษตรของจีน โดยปี 2567 มีการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาเขตพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุม ที่มุ่งเน้นการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง บนพื้นฐานการวิจัยพัฒนา และการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการผลิตพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ 

แนวนโยบายดังกล่าวจึงเป็นการเน้นย้ำว่าจีนจะพัฒนาการใช้ข้าวโพด GMO เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับผลผลิตในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าธัญพืช แม้ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพด GMO ของจีนจะมีไม่ถึง 1% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 276.37 ล้านไร่ และคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด GMO ของจีนในช่วงปี 2568 – 2570 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10 – 15% ต่อปี

“ถึงแม้ข้าวโพดจะไม่ใช่สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย แต่ข้าวโพดเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์และเอทานอล ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และจีนเองก็เป็นตลาดมันสำปะหลังที่สำคัญของไทย การที่จีนจะหันมาใช้ข้าวโพด GMO เพื่อการเพิ่มผลผลิตภายในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ อาจกระทบต่อความต้องการมันสำปะหลัง ดังนั้น จึงควรหาแนวทางเพื่อสอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวที่มีแนวโน้มอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงไม่กี่ตลาด ซึ่งไทยมีตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกมันเส้นที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง” นายพูนพงษ์กล่าว  

 

ข้าวโพด GMO