ค้าไทย-4 ชาติสงครามทรุด หมีขาวแก้เกมตั้งเทรดดิ้ง ซื้อขายสกุลบาท-ส่งถึงที่

03 ก.ค. 2567 | 05:43 น.

การค้าไทยกับ 4 ประเทศคู่สงคราม “รัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ปาเลสไตน์” ทรุด หลังสถานการณ์ยื้อ บานปลาย นักธุรกิจแดนหมีขาวแก้เกม ตั้งบริษัทเทรดดิ้ง ให้บริการซื้อขายสินค้าเป็นเงินบาท ส่งมอบถึงที่ ไม่ต้องเปิดแอล/ซี ชี้ “ทรัมป์” คัมแบ็กผู้นำสหรัฐ ค้าไทย-ค้าโลกป่วนรอบใหม่

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และสงครามอิสราเอล กับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจ และการค้าโลกชะลอตัว รวมถึงกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยปี 2566 ส่งออกไทยติดลบ 1% และช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวเพียง 2.6% ขณะที่สถานการณ์การค้าไทยกับ 4 ประเทศคู่สงคราม รัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ปาเลสไตน์ยังน่าห่วง

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรของ“ฐานเศรษฐกิจ” การค้าไทย-รัสเซียในปี 2565 หรือในปีแรกที่เกิดสงคราม มีมูลค่ารวม 64,556.54 ล้านบาท ขยายตัวลดลง 26.06% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยไทยส่งออก 20,288.05 ล้านบาท ลดลง 37.87% นำเข้า 44,268.48 ล้านบาท ลดลง 19%

ปี 2566 ปีที่ 2 ของสงคราม การค้าไทย-รัสเซียมีมูลค่ารวม 53,441.29 ล้านบาท ลดลง 17.22% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยไทยส่งออก 29,227.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.06% นำเข้า 24,213.79 ล้านบาท ลดลง 45.30%

ล่าสุดช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-รัสเซียมีมูลค่ารวม 25,031.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 12,619.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.84% นำเข้า 12,411.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.27% สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปรัสเซีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง, อากาศยาน และส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากรัสเซีย ได้แก่ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์, พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และถ่านหิน

ค้าไทย-4 ชาติสงครามทรุด หมีขาวแก้เกมตั้งเทรดดิ้ง  ซื้อขายสกุลบาท-ส่งถึงที่

การค้าไทย-ยูเครน ในปี 2565 มีมูลค่ารวม 3,585.44 ล้านบาท ลดลง 72.18% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ก่อนเกิดสงครามกับรัสเซีย) โดยไทยส่งออก 1,333.68 ล้านบาท ลดลง 68.46% นำเข้า 2,251.76 ล้านบาท ลดลง74% ปี 2566 การค้าไทย-ยูเครน มีมูลค่ารวม 4,711.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.40% โดยไทยส่งออก 1,265.69 ล้านบาท ลดลง 5.10% นำเข้า 3,445.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.02%

ขณะช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-ยูเครนมีมูลค่ารวม 4,422.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 1,481.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 154.74% นำเข้า 2,941.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.70% สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปยูเครน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และสิ่งปรุงรสอาหาร ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากยูเครน ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช, ลวดและสายเคเบิล, รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

ด้าน การค้าไทย-อิสราเอล ปี 2566 มีมูลค่ารวม 42,089.17 ล้านบาท ลดลง 14.42% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยไทยส่งออก 26,704.47 ล้านบาท ลดลง 10.17% นำเข้า 15,384.70 ล้านบาท ลดลง 20.92% ส่วนช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-อิสราเอล มีมูลค่ารวม 18,503.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.89% โดยไทยส่งออก 11,767.04 ล้านบาท ลดลง 5.76% นำเข้า 6,736.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.06%

ขณะที่ การค้าไทย-ปาเลสไตน์ มีมูลค่าไม่มาก ปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวมเพียง 97.55 ล้านบาท ลดลง 45.31% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยไทยส่งออก 95.50 ล้านบาท ลดลง 46.45% นำเข้า 2.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,535.75% ส่วนช่วง 5 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-ปาเลสไตน์มีมูลค่า 6.80 ล้านบาท ลดลง 90.63% โดยไทยส่งออก 6.58 ล้านบาท นำเข้า 2.2 แสนบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวว่า การค้าไทย-รัสเซีย และการค้าไทย-ยูเครน ช่วง 2 ปีของสงครามปรับตัวลดลง ส่วนช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ที่ขยายตัวสูงมาจากฐานตัวเลขช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาต่ำ การค้าไทย-รัสเซียนับจากนี้มีทิศทางแนวโน้มดีขึ้น เป็นผลจากรัสเซียถูกสหรัฐฯและยุโรปแซงก์ชัน จึงปรับยุทธศาสตร์หันมาค้ากับจีน และอาเซียนเพื่อทดแทนมากขึ้น

ขณะเดียวกันจากความสัมพันธ์ที่ดีไทย-รัสเซีย รวมถึงจากที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกในสินค้าปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ถ่านหิน และอื่น ๆ ไทยได้หันมาสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่ม ขณะที่ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าอื่น ๆ ไปรัสเซียเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวลานี้มีภาคธุรกิจเอกชนของรัสเซียมาเปิดบริษัทการค้า(เทรดดิ้ง)ในไทย ให้บริการรับคำสั่งซื้อ ให้บริการนำเข้า-ส่งออก ทั้งการจัดหาเรือ การส่งมอบสินค้า โดยซื้อขายในสกุลบาท ไม่ต้องใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องเปิดแอล/ซีกับธนาคาร ทำให้การค้าขายระหว่างกันมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“อย่างไรก็ตามการค้าไทย-รัสเซีย ไทย-ยูเครน ไทย-อิสราเอล และไทย-ปาเลสไตน์ยังน่าห่วง เพราะสถานการณ์มีทิศทางแนวโน้มขยายวง และอาจรุนแรงขึ้น โดยหลายประเทศในยุโรปที่ให้การสนับสนุนยูเครนและอิสราเอล เริ่มส่งสัญญาณให้มีการตุนอาหาร”

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การค้าไทย-รัสเซีย และไทย-ยูเครน นับจากนี้ยังมีแนวโน้มทรง ๆ ส่วนการค้าไทย-อิสราเอล ไทย-ปาเลสไตน์มองว่ายังคงติดลบต่อเนื่องตามทิศทางความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ส่อขยายวง ที่น่าจับตาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนจะส่งผลต่อโลกในหลายเรื่อง

ทั้งนี้มีโอกาสสูงที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวได้ประกาศจะไม่สนับสนุนเงินและอาวุธให้ยูเครน แต่จะนำงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐมากกว่า และจะเจรจากับรัสเซียเพื่อให้ยุติสงคราม ขณะที่ทรัมป์หนุนอิสราเอลมากกว่าไบเดน สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางอาจรุนแรงขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ที่ผ่านมาทรัมป์มีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ มีการกีดกันการนำเข้า และมีการเก็บภาษีสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่ม มุ่งเจรจาการค้าพหุภาคี ไม่เจรจาเปิดเสรีแบบทวิภาคี สงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบจากจีนมาใช้เป็นฐานผลิตส่งออก ซึ่งไตรมาส 4 หลังเลือกตั้งสหรัฐจะเป็นตัวตัดสินว่าเศรษฐกิจ การค้าโลกจะดีขึ้นหรือเลวลง”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4006 วันที่ 4 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2567