นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ในวันที่ 8 -9 กรกฎาคม 2567 เพื่อซักซ้อมแนวปฎิบัติในการตรวจสอบแหล่งผลิต ผู้ขออนุญาตผลิตปุ๋ย ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการร้านค้าปุ๋ยให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการลักลอบการผลิต การจำหน่ายปุ๋ยปลอม ปุ๋ยด้อยคุณภาพให้กับเกษตรกรในฤดูการผลิตทางการเกษตร และ "โครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง" ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะเริ่มโครงการ 15 ก.ค.67 ทั้งนี้ได้ย้ำต่อสารวัตรเกษตรว่าหากพบผู้ใดกระทำผิดกรมจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด และให้แยกโรงงานผลิตเหมือนศูนย์รวบรวมผลผลิต เป็นโรงงานสีแดง เหลือง เขียว กรณีแดงและเหลืองจะเป็นเป้าหมายหลัก และสุ่มตรวจต่อเนื่อง ขณะที่สีเขียวก็ต้องตรวจเป็นระยะเช่นกัน
“ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายกำชับให้ตรวจสอบโครงการอย่างเข้มข้นเพื่อให้ปุ๋ยในตลาดและในโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย การประชุมซักซ้อมจึงเป็นการกระชับแนวปฏิบัติของสารวัตรเกษตรทั้งหมด ให้เป็นทิศทางเดียวกัน โดยตรวจสอบตั้งแต่โรงงานผลิต ศูนย์กระจายปุ๋ย ร้านจำหน่ายปุ๋ย สหกรณ์การเกษตรที่เข้าโครงการ จนถึงแปลงนาของเกษตรกร และความร่วมมือกับทีมพญานาคราชเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งขอย้ำว่ากรณีผลิตปุ๋ยปลอมมีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท จำคุกสูงสุด 15 ปี”
สำหรับการตรวจคุณภาพปุ๋ยจะต้องส่งตรวจยังห้องปฎิบัติการที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง หรือห้องปฎิบัติการที่ได้รับรอง ISO/IEC 17025 ที่มีศักยภาพในการวเคาระห์ผลิตภัณ์ปุ๋ย กรณีไม่ชัดเจนให้ส่งตรวจซ้ำเพื่อที่ห้องปฎิบัติการของกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้ชุดเฉพาะกิจพญานาคราชที่ทำงานร่วมกันจะเริ่มตั้งแต่การหาข่าว รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง กรณีพบข้อมูลหลักฐานที่เชื่อถือได้จะขอออกหมายค้น หมายจับตามขั้นตอนกฎหมาย ร่วมกันเข้าดำเนินการยังจุดต้องสงสัยเช่น โรงงานผู้ผลิต หรือ สถานที่จำหน่าย หรือสหกรณ์ที่เข้าโครงการ ฟาร์มเกษตรกร พบผิดจะยึดอายัดตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้การจับกุม ตรวจค้นจะมีทั้งการถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายคลิปเพื่อป้องกันการฟ้องกลับ เป็นต้น
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่ากรณีผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปี ปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 2 ล้านบาท กรณีผลิตผิดมาตรฐานตามสูตรที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 8 หมื่นถึง 2 แสนบาท ปุ๋ยเสื่อมคุณภาพต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท ปุ๋ยเคมีต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ขึ้นทะเบียนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 4 หมื่นถึง 2 แสนบาท ส่วนกรณีปุ๋ยอินทรีย์ถ้าผลิตปลอมต้องระวางโทษจำคุก1ปี3เดือน ถึง 3ปี 9เดือน ปรับตั้งแต่ 5หมื่นถึง5แสนบาท เป็นต้น
สำหรับการผลิตชีวภัณฑ์ปลอม ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน7 แสนบาท กรณีผลิตต่ำกว่าเกณฑ์ จำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน5 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเสื่อมคุณภาพจำคุกไม่เกิน1ปี ปรับไม่เกิน1แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ขึ้นทะเบียน ต้องระวางโทษสองในสามของโทษจำคุกไม่เกิน3ปี หรือปรับไม่เกิน3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ