สกัดปลาเหยื่อ แปลงร่าง สวมสิทธิ์"ปลาหมอคางดำ" ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ป้อน กยท.

26 ก.ค. 2567 | 08:06 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2567 | 08:06 น.

ประธานบอร์ด กยท. ปิดช่องทุจริต สกัดปลาเหยื่อราคาถูก แปลงร่าง สวมสิทธิ์" ปลาหมอคางดำ" รับซื้อกิโลฯ ละ 15 บาท ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ป้อน กยท. 2 ล้านกิโลกรัม สมาคมประมงฯ แนะใช้อวนตาถี่ กวาดทั้งแม่น้ำ แล้วค่อยปล่อยลูกปลาอื่นภายหลัง

จากปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ที่กิโลกรัมละ 15 บาท คาดว่าสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และนำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพได้ 2 ล้านลิตร (ปัจจุบันน้ำหมักชีวภาพที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาประมาณลิตรละ 200 บาท ) งบประมาณเบื้องต้น 50 ล้านบาท (ใช้เงินงบประมาณ กยท. มาตรา 13) โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดจุดรับซื้อปลา ในวันที่ 1 สิงหาคม นี้  ได้มีการประเมินจากการที่ลงไปพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่จุดรับซื้อแล้ว คาดว่าไม่น่าจะมีปลามาขายมากนัก เพราะเหลือแต่ลูกปลา และกว่าจะโตให้จับอีกก็ไม่รู้เมื่อไร ใน 2,000 ตัน หรือ 2 ล้านกิโลกรัม ที่จะเปิดจุดรับซื้อ เพราะก่อนหน้านี้ที่จับมา 4 เดือน เพิ่งรับซื้อได้แค่ 400- 500 ตัน

“ไม่มีความกังวลเรื่องผลิตน้ำหมักชีวภาพ และจากการลงพื้นที่ก็มีชาวสวนยางส่วนใหญ่ก็ถามว่าจะผลิตเสร็จเมื่อไร ก็อยากได้ แต่ก็ออกตัวไว้บ้าง ว่าอย่าไปหวังมาก เพราะไม่รู้ว่าปลาจะมาเหลือถึง กยท.ที่จะส่งมอบให้กรมพัฒนาที่ดินไปผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำเท่าไหร่ เพราะอีกด้านหนึ่งก็มีทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้มารับซื้อเช่นเดียวกัน ก็เท่ากับงบประมาณ กยท.ที่ตั้งไว้”

สกัดปลาเหยื่อ แปลงร่าง สวมสิทธิ์\"ปลาหมอคางดำ\" ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ป้อน กยท.

นายเพิก กล่าวว่า  ได้ลงไปคุยกับจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ว่าจะต้องเป็นปลาชนิดนี้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ปลาเหยื่อราคากิโลกรัมละ 8 บาท ทะลักสวมสิทธิ์มาขาย ดังนั้นจึงต้องขึ้นทะเบียนให้ชัดเจน รวมทั้งเรือที่นำมาขายด้วย แล้วให้กรอกรายละเอียดว่าจับตรงไหน จำนวนเท่าไร ใครเป็นเจ้าของเรือ ให้ดูว่ามาขายกี่รอบ ให้ทำป้องกันไว้หมด เพราะหากมีพ่อค้าใส่รถขึ้นมาแล้วมาขายที่จุดรับซื้อก็ต้องไปเช็คต้นทางว่านำมาจากไหน พอไปถึงปลายทางก็จะเช็คอีกรอบตอนนำปลาลง แล้วเทกอง ก็จะต้องสังเกต ให้ถ่ายวิดีโอ ถ่ายคลิปทุกล็อต ว่าเป็นปลาชนิดอะไรทำ ต้องมีหลักฐาน เพื่อปิดช่องโหว่ป้องกันการทุจริต หรือป้องกันตัวเองไว้ หากมีการตรวจสอบ อย่างน้อยก็เป็นเกราะป้องกันตัวเอง”

ล่าสุดได้สั่งการนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดรับสมัครแม่บ้านชาวสวนยาง แล้วให้มีการคัดขนาดปลาตัวใหญ่ แล้วใส่รถห้องเย็นไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ประมาณ 1 ตัน ให้ผลิตปลาร้า แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ส่งมอบให้กรมพัฒนาที่ดินต่อไป

สกัดปลาเหยื่อ แปลงร่าง สวมสิทธิ์\"ปลาหมอคางดำ\" ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ป้อน กยท.

“หากเกษตรกรหรือชาวบ้านนำปลามาขายให้ลงทะเบียนไว้ พร้อมกับแจ้งพิกัด  แล้วสังเกตถ้าไม่ใช่รอบเดียว ให้สมมติฐานว่าอาจจะเป็นปลาที่เลี้ยงไว้ ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง ไม่ใช่ผมจะอยากดราม่านะ เพราะคุณไม่เห็นการระบาดของปลาหมอคางดำจริงหรือ ต้องเช็ค ขนาดกุ้งก็จะมียอยกขึ้นมาดูอัตราการเติบโต 3-5 วัน เพราะมีบางคนมาพูดว่ายกมาอีกที มีแต่ปลา 9 ตัน ไม่น่าเป็นไปได้ โดยปลาพวกนี้เมื่อจับขึ้นอยู่บนเรือแล้ว แล้วโดนทับกันมาก็ตายหมดแล้ว แต่ถ้าเลี้ยงเป็นตัวสวย  แล้วน็อคน้ำแข็ง พอนำไปแช่น้ำ ก็อาจจะฟื้นได้”

นายเพิก กล่าวอีกว่า นอกจากเตรียมแม่บ้านแล้ว ยังไปซื้อถังหมักมาเตรียมไว้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีปลามาให้หมักหรือไม่  ขณะที่ กยท.ถูกชาวสวนยางบางกลุ่มวิจารณ์ถึงการใช้งบของกยท.ในการรับซื้อปลาว่า ทำไมไม่ให้ใช้งบประมง ตนก็เปรียบเทียบให้เห็นภาพ หากเห็นไฟไหม้บ้านกำลังลุกโซนเลย คุณจะบอกว่าเป็นหน้าที่ของรถดับเพลิงไหม แต่ในมือคุณถือถังน้ำ จะวางเฉยหรือ แล้วกว่ารถดับเพลิงมา บ้านไฟไหม้หมดแล้ว ดังนั้นนี่ คือวิกฤติที่จะต้องช่วยกระทรวงและรัฐบาล เพื่อบรรดาความเดือดร้อนของชาวบ้านและชาวประมง

สกัดปลาเหยื่อ แปลงร่าง สวมสิทธิ์\"ปลาหมอคางดำ\" ผลิตน้ำหมักชีวภาพ ป้อน กยท.

ด้านนายศราวุธ โถวสกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ (26 ก.ค.67) ราคาปลา ที่เข้าโรงงานปลาป่น 8.50 บาท/กก. ราคาปลาคัด ที่เข้าสู่ตลาดปลา โดยกลุ่มพวกนี้จะคัดไปเป็นปลาเหยื่อ (ไม่สามารถเข้าโรงงานแปรรูปได้ ) ราคา 10 บาท/กก. หากมีการนำปลาพวกนี้ไปผสมขายกับปลาหมอคางดำ ผลิตน้ำหมักชีวภาพทำได้ เพียงแต่ว่าอยู่เจ้าหน้าที่รัฐจะสวมปลากันเองทุกอย่างจบเลย ซึ่งปลาหมอคางดำขนาดตัวเล็ก (ขนาด 10-20 ตัว/กก.) จัดอยู่เท่ากับขนาดปลาเหยื่อ กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ถ้าปลาทับถมกัน ตัวช้ำ ตกเกรด ราคาปรับลงมาอยู่ที่ 8 บาท

“สมาคมมีเครื่องมือพร้อมทุกอย่าง แล้วควรจะใช้อวนตาถี่ขึ้น เพราะที่จับได้ติดปลา 20 กว่าตัวกิโลฯ สามารถไม่ให้ปลาโตได้ แต่ลูกปลายังอยู่ ยังรอดตาอวนออกไปได้ ผมคิดว่าควรจะกวาดให้หมด แล้วปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำใหม่”