ดีเดย์ 1 สิงหาฯ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จากปลาหมอคางดำ เพิ่มคุณภาพยางพารา

01 ส.ค. 2567 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2567 | 04:29 น.

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ประกาศความพร้อม ดีเดย์ 1 สิงหาฯ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จากปลาหมอคางดำ เพิ่มคุณภาพยางพาราไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ จึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ (17 ก.ค. 67) ได้มีมติให้ดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วน คือการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งนํ้าทุกแห่งที่มีการระบาด

 

ในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยกำจัดปลาหมอคางดำที่เป็นปลาทำลายระบบนิเวศได้ ได้เตรียมรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักและนํ้าหมักชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตร โดยใช้เงินงบประมาณ กยท. มาตรา 13 สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยตั้งราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท คาดว่าสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และนำไปผลิตเป็นนํ้าหมักชีวภาพได้ 2 ล้านลิตร (ปัจจุบันนํ้าหมักชีวภาพที่จำหน่ายในท้องตลาดมีราคาประมาณลิตรละ 200 บาท )

ทั้งนี้จะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป เพื่อส่งมอบปลาหมอคางดำให้กรมพัฒนาที่ดินนำไปผลิตเป็นนํ้าหมักชีวภาพ และนำส่ง กยท. นำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางในโครงการแปลงใหญ่ กว่า 2 แสนไร่ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในสวนยางของโครงการ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ถึงภารกิจการนำปลาหมอคางดำผลิตเป็นนํ้าหมักชีวภาพเพื่อใส่เป็นปุ๋ยให้กับต้นยางพารา ดังรายละเอียด

 

ดีเดย์ 1 สิงหาฯ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จากปลาหมอคางดำ เพิ่มคุณภาพยางพารา

 

นำร่อง 3 จว.ผลิตนํ้าหมักชีวภาพ

นายปราโมทย์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งนํ้าธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การนำของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการฯได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน นำนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ มาใช้ประโยชน์ ในการร่วมแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่ กยท.ได้นำงบประมาณมาสนับสนุน จึงได้เข้าไปร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการ

โดยจะนำปลาหมอคางดำนำมาผสมกับผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยโปรตีนและไขมันของซากสัตว์ ทำให้สามารถผลิตนํ้าหมักชีวภาพในระยะเวลารวดเร็วและได้คุณภาพ ผลจากการศึกษาของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า นํ้าหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ มีไนโตรเจน 0.98% ฟอสฟอรัส 1.12% โพแทสเซียม 1.03% แคลเซียม 1.66% แมกนีเซียม 0.24% และกำมะถัน 0.20% นอกจากนี้มีกรดอินทรีย์ และสารฮอร์โมนต่างๆ (กราฟิกประกอบ) จะทำให้พืชยางพารามีความแข็งแรง ช่วยเสริมสร้างการเติบโต รวมถึงป้องกันโรคใบร่วงยางพาราได้ด้วย ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทำให้ได้นํ้ายางดีด้วย เป็นข้อดีของ

นํ้าหมักชีวภาพที่ผลิตจากปลาหมอคางดำ

 นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการผลิตนํ้าหมักชีวภาพ ให้นำปลาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เทผสมลงในถังนํ้าหมักที่มีส่วนผสมของกากนํ้าตาล 10 กิโลกรัม นํ้า 10 ลิตร และผลิตภัณฑ์สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง (25 กรัม) นำมาคนให้เข้ากัน ปิดฝาไม่ต้องสนิท และตั้งไว้ในที่ร่มในระหว่างการหมักจะพบเห็นฝ้าขาวซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวหน้าของวัสดุหมัก ฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีกลิ่นแอลกอฮอล์ จึงจำเป็นต้องคนนํ้าหมัก ทุก ๆ 2-3 ครั้งต่อวัน เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

จากนั้นก็ทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้ากันได้ดียิ่งขึ้น โดยหมักไว้ประมาณ 25–30 วัน ซึ่งการพิจารณาว่านํ้าหมักชีวภาพจะพร้อมใช้งาน สามารถสังเกตได้จากคราบเชื้อฝ้าขาวที่พบลดลง ไม่พบฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลิ่นแอลกอฮอล์ลดลง และความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) เฉลี่ย 3.5 โดยวิธีการใช้เพียงแค่นำนํ้าหมักชีวภาพจากปลา 1 ลิตร ผสมกับนํ้า 100-150 ลิตร ฉีดพ่นกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้

ดีเดย์ 1 สิงหาฯ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ จากปลาหมอคางดำ เพิ่มคุณภาพยางพารา

ปกติแจกฟรีหนุนเกษตรกรผลิตเอ

นายปราโมทย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีหมอดินอาสาทุกตำบล และสถานีพัฒนาที่ดิน 77 จังหวัด รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ ได้มีการผลิตนํ้าหมักแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรฟรี หรือสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตรและครัวเรือน เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และลดต้นทุนการผลิต พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร และทำให้ธาตุอาหารในดินเป็นประโยชน์กับพืชมากขึ้น

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ 3 กลุ่มรวม 15 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ด้านปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มอินทรียวัตถุ กลุ่มที่ 2 ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ด้านควบคุมศัตรูพืช และกลุ่มที่ 3 ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม

“จากที่กรมฯ ถูกปรับลดทอนงบประมาณทุกปี ทำให้นํ้าหมักชีวภาพไปไม่ถึงความต้องการของเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อใช้ลดต้นทุน เพิ่มผลิต และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแทนใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะทำให้ชีวิตของพี่น้องเกษตรดีขึ้นอย่างยั่งยืน และที่สำคัญดินสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ผู้บริโภคปลอดภัยจากใช้สินค้าเกษตรที่ปลอดภัย” นายปราโมทย์ กล่าวยํ้า

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,014 วันที่ 1-3 สิงหาคม พ.ศ. 2567