พาณิชย์จับตาสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐาน บุกตรวจเข้มทั่วกทม.

08 ส.ค. 2567 | 07:39 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2567 | 08:11 น.

พาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกมาตรการสินค้านำเข้าทะลักทั้งไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก ทั้งในออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมลงพื้นที่ เร่งตรวจสอบ ในเขต ภายกรุงเทพฯ ใน 1-2 วัน สั่งกรมศุลกากรเช็ก 10 รายการสินค้านำเข้า

 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานประชุมเพื่อหารือกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานราคาต่ำ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากประเทศทะลักเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในรูปแบบอีคอมเมิร์ส ที่มีการจำหน่ายสินค้าในราคาถูก เพราะรูปแบบการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

จากเดิมจะมีการนำเข้าสินค้าส่งไปยังผู้ค้าส่าค้าปลีกและจำหน่ายให้ผู้บริโภค แต่ตอนนี้รูปแบบการจำหน่ายสินค้าเปลี่ยนเป็นสินค้าในโรงงานผ่านแพลตฟอร์มส่งตรงถึงผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่

จึงได้มีการประชุมเพื่อหารือกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานราคาต่ำ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกรมของกระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลฯ (ดีอีเอส) , กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (ETDA)

จากการประชุมหารือได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค ผู้ประกอบการโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสินค้าที่เข้าได้มาตรฐานหรือไม่ จึงมีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  • แบบออฟไลน์ คือลงพื้นร้านค้าหรือแหล่งจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศกระจายทั่วกรุงเทพฯ ภายใน 1-2 วันเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งการจดทะเบียนนิติบุคคล สินค้าได้รับมาตรฐานหรือไม่ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ มีใบอนุญาตแรงงานหรือไม่ หากพบว่ากระทำผิดจะดำเนินคดีภายใต้ฎหมายของแต่ละหน่วยงาน   
  • แบบออนไลน์ คือให้ศุลกากรนำเข้าส่งข้อมูล 10 รายการสินค้าที่แรกทะลักเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางออนไลน์ช่วงนี้มีประเภทไหนบ้าง เพื่อจะได้ดูว่าสินค้าดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้จาการสุ่มตรวจเบื้องต้นของสินค้านำเข้าที่มาขายในไทย พบว่า คนขายบางคนไม่ใช่คนไทย และ บางคนไม่มีวีซ่า ไม่มีใบอนุญาตแรงงาน,ไม่มีการจดทะเบียน พาณิชย์หรือนิติบุคคล  ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่ตรวจสอบกระจายทั่วกรุงเทพ  หากพบมีการกระทำผิดกฎหมาย จะดำเนินคดีภายใต้กฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปดูกฎหมายที่สามารถบังคับให้การจำหน่ายสินค้าออนไลน์จะต้องมีสำนักงานจำหน่ายสินค้าจำเป็นต้องตั้งในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลจากทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) มีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ทุกประเภทต้องมาจดแจ้งให้ทราบ ตามพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 มาตรา 18  บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลดังต่อไปนี้เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ขนาดใหญ่หรือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ

อย่างไรก็ดี หากแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว มีลูกค้าในไทยและมีการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่าน electronic  transaction ในไทย แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นจะไม่ได้ตั้งอยู่ในไทยก็น่าจะมีการออกมาตรการมาดูแลได้

เพราะในกฎหมายระบุว่า  หากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลใดมีลักษณะเฉพาะและก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคง ทางการเงินและการพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณะชน และมีผลกระทบในระดับสูงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มนั้น ก็จะสามารถ ใช้กฎหมายนี้เข้ามาดูแลได้สำหรับมาตรการที่จะออกมาจะเป็นการดูแลผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางก่อน โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายให้รัดกุมมากขึ้น สำหรับการดูปัญหาระยะยาว จะต้องมีการหารือกันต่อไป