หอการค้าฯฝาก “แพทองธาร” 6 เรื่องด่วน ฟื้นเชื่อมั่น-ปิดจ๊อบดึงลงทุนนอก

16 ส.ค. 2567 | 09:57 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 10:18 น.

หอการค้าไทย แสดงความยินดี “แพทองธาร” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ฝาก 6 เรื่องเร่งด่วนฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท โมเมนตัมท่องเที่ยว ดันส่งออกโตไม่ต่ำ 2% เร่งเบิกจ่ายงบฯปี 67 แก้ปัญหาปากท้อง หวังพรรคร่วมทำงานมีเอกภาพเอื้อลงทุน เป็นเซลล์แมนต้องปิดจ๊อบให้ได้

สภาผู้แทนราษฎร ได้โหวตเห็นชอบให้ นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย ซึ่งจะได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดใหม่ในเร็ววัน

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ขอแสดงความยินดีกับนางสาวแพรทองธาร  ชินวัตร ที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

แพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31

ในมุมมองของหอการค้าไทย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สภาฯ สามารถมีมติเห็นชอบ ได้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว หลังจากนี้เป็นขั้นตอนของการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งหลังจากจบกระบวนการตามกฎหมายแล้วเสร็จ จะเป็นส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังต้องการการฟื้นตัวอย่างเร่งด่วน ดังนี้

  • รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งจะเอื้อต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อเนื่อง
  • การรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน ส่วนนี้อยากให้มีการผลักดันและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว รวมถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36-37 ล้านคน ขณะเดียวกัน ควรรณรงค์ “เมืองน่าเที่ยว” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวโดดเด่นและเกิดการกระจายตัว กระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว  รวมถึงเดินหน้าแผนการกระจายการลงทุนไปจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ที่หอการค้าฯ ได้ทำร่วมมาช่วงก่อนหน้านี้ต่อ
  • การเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือไม่ต่ำกว่า 2%  ต่อเนื่องจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ไปเชิญชวนให้มีการเจรจาและเชิญหลายบริษัทมาลงทุนที่ประเทศไทย

หอการค้าฯฝาก “แพทองธาร” 6 เรื่องด่วน ฟื้นเชื่อมั่น-ปิดจ๊อบดึงลงทุนนอก

  • การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และควรเร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการหรือในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อในปีที่ผ่านมา
  • การแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ทั้งมาตราการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึง มาตรการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน
  • พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นตัวจริงด้านการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งหอการค้าไทยมีหอการค้าในทุกจังหวัดที่พร้อมจะทำงานสนับสนุนร่วมกันกับภาครัฐ

 

สิ่งที่ภาคเอกชนเห็นคือการที่มีนายกรัฐมนตรีได้เร็วทำให้ประเทศไม่เกิดสุญญากาศ ส่วนนี้ทำให้เรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็ว ส่วนเรื่องที่ไทยมีนายกฯหญิงที่อายุน้อยนั้น ประเด็นนี้มองว่าขึ้นอยู่ที่การแสดงความเป็นผู้นำและการบริหารราชการแผ่นดินหลังจากนี้

สำหรับความพร้อมของการบริหารงานที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเชื่อว่า พรรคเองมีความพร้อมด้านบุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถในทุกด้านอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นการทำงานเป็นทีมกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น ก็จะทำให้การทำงานของ ครม. ชุดใหม่ มีเอกภาพและเสถียรภาพ

นอกจากนี้ หลายมาตรการของอดีตนายกเศรษฐา โดยเฉพาะการเปิดประตูการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าสานต่อ โดยมีการกำหนดกระทรวงหรือผู้รับผิดชอบขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้อง  Soft Power ส่วนนี้หอการค้าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบและสามารถที่จะต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของไทยได้อยู่แล้ว ซึ่งเอกชนเห็นด้วยว่าควรเดินหน้าขับเคลื่อนในประเด็นนี้ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน การดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ยังเป็นปัญหาของไทยที่ยังขาดบุคลากรที่มีความพร้อมในด้านทักษะที่เพียงพอ ตลอดจนปัญหาด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังสูงและกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ไข ซึ่งนอกจากที่รัฐบาลจะเป็นเซลล์แมนแล้วจะต้องปิดการขายให้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยมีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 2% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพและไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นในระยะกลางและระยะยาว เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้จีดีพีของไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 3 - 5% ต่อปี