Temu พายุของจีนราคาถูก ไล่ถล่ม“อเมซอน-ลาซาต้า-ช้อปปี้”

02 ส.ค. 2567 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2567 | 05:09 น.

สงครามอีคอมเมิร์ซไทย ปะทุอีกรอบ “Temu”พายุลูกใหม่ ดึงของถูกราคาโรงงาน ไล่ขย่มแหลกยักษ์ “อเมซอน-ลาซาด้า-ช้อปปี้” กูรู แนะรัฐตั้งการ์ด หวั่นสินค้าจีนทะลัก-เงินไหลออกนอกประเทศ ระบุ Temu ไม่ได้จดทะเบียนในไทย ไม่ต้องจ่ายภาษีขาเข้า แถมดึงข้อมูลของคนไทยออกไป

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group ผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัลเมืองไทย เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สงครามอีคอมเมิร์ซไทยปะทุขึ้นมาอีกรอบหนึ่งภายหลัง Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สินค้าราคาต่ำ ที่มาแรง และกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ประกาศเปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการ

Temu พายุของจีนราคาถูก ไล่ถล่ม“อเมซอน-ลาซาต้า-ช้อปปี้”

โดย Temu ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเดียวกับที่ใช้ตีตลาดในสหรัฐ และทั่วโลกมาแล้ว คือ เน้นขายของถูกจากโรงงานผลิตโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้มีต้นทุนต่ำ ทำให้ได้กำไรสูง และใช้วิธีทุ่มยิงแอดโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ส่วนลดสูงสุด 90% มีบริการส่งฟรี บริการรับประกันส่งสินค้า และระบบคืนเงินหากไม่พอใจสินค้า เพื่อจูงใจคนเข้าไปซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Temu

“การเข้ามาของ Temu ถือเป็นพายุลูกใหม่ที่รุนแรงเพราะจะทำให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น และเงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น โดยที่ไทยไม่ได้อะไรกับมาเลย และจะกลายเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจไทยในอนาคต หากภาครัฐ ไม่เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะกรณีของ Temu นั้นไม่ได้จดทะเบียนในไทย บริษัทแม่จดทะเบียนในไอร์แลนด์ เข้ามาเปิดเว็บไซต์ภาษาไทย ราคาขายเป็นไทย ทุ่มโฆษณายิงแอด ดึงคนเข้าแอป แล้วขายของทันที ไม่มีจดทะเบียนให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ขึ้นทะเบียนบริการดิจิทัลเซอร์วิส ไม่ต้องจ่ายภาษีขาเข้า ไม่มีต้นทุนขออนุญาตเพื่อให้ได้มาตรฐานต่างๆ เช่น อย. หรือ มอก. นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลของคนไทยออกไปจากการเข้ามาใช้บริการในแอปพลิเคชัน“

Temu พายุของจีนราคาถูก ไล่ถล่ม“อเมซอน-ลาซาต้า-ช้อปปี้”

อย่างไรก็ตามมองว่าสงครามรอบนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างยักษ์จีนด้วยกันเอง ด้วยกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกของ Temu ที่เน้นขายสินค้าราคาถูก จากโรงงานผลิตในจีนโดยตรง ส่งผลกระทบกับอีมาเก็ตเพลสจากจีน อย่าง“ลาซาด้า” หรือ “ช้อปปี้” ที่มีสินค้าจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ Gadget วางขายอยู่ โดยเชื่อว่าจะไม่สามารถแข่งราคากับ Temu ได้ โดยอาจต้องหันมาขายสินค้าท้องถิ่นในประเทศมากขึ้น

อีกกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักจากการเข้ามาของ Temu คือกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าไทย ที่เป็นคนกลางนำเข้าสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนไปขายสินค้าอื่น หรืออาจต้องมีบริการหลังการขาย บริการเสริมเป็นมูลค่าเพิ่มเข้าไป

ทั้งนี้ไทยประเทศแห่งที่ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ Temu เข้ามาเปิดบริการ สินค้าที่วางขายในเว็บไซต์ Temu ใช้เวลาในการจัดส่งไม่เกิน 5 วัน จากกวางโจว มาถึงกรุงเทพฯ โดย Temu ไล่ถล่ม ยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ  เจ้าเดิมมาแล้วทุกรายมาแล้วทั่วโลก ทั้ง อเมซอน อาลีบาบา อาลีเอ็กซ์เพรส ลาซาด้า หรือ ช้อปปี้ โดยในสหรัฐฯ ได้รับความนิยม สร้างความสั่นสะเทือนให้อเมซอน โดยมีการโหลดไปแล้วกว่า 70 ล้านครั้ง

ข้อมูลสำรวจล่าสุดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ระบุว่า คาดการณ์ว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยจะพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยปี 2566 จะแตะถึง 5.96 ล้านล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะมาแรง และมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่น่าจับตา คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย ที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 31% รองลงมา อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 24% และอุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่ง 13% ตามลำดับ สำหรับช่องทางการขายยอดฮิตหนีไม่พ้น e-Marketplaces และ Social Commerce

สินค้าจีนทะลัก ยุคคนไทยรัดเข็มขัด

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า วันนี้ทุนจีนเข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคระดับบนแม้ยังมีกำลังซื้อ แต่ก็มีการปรับตัวและเลือกซื้อสินค้าอย่างระมัดระวัง รัดเข็มขัดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาด สินค้าจีนราคาถูกเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เกิดการว่างงาน และเงินไม่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

 “ของถูกคือสิ่งที่คนต้องการมากที่สุด ซึ่งสินค้าจีนเป็นทางเลือกแรกถ้าเป็นอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงเพราะเงินยิ่งไหลออก”

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้สินค้าจีนที่มีกำลังการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ กำลังทะลักเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยโดยตรง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ผู้ประกอบการไทยเองก็ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในยุคที่การแข่งขันสูง

 “ภาครัฐต้องล้อมรั้วสินค้าจีน การสร้างกำแพงภาษีเพื่อปกป้องสินค้าภายในประเทศ แต่หากไม่คำนึงถึงศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อาจส่งผลให้เกิดการขาดทุนการค้าและสูญเสียเงินทุนออกนอกประเทศ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) มุ่งเน้นไปที่การลดภาษีนำเข้าสินค้า แต่ละเลยที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศในระยะยาว”

อย่างไรก็ดีอยากให้ผู้บริโภค เปรียบเทียบราคา ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ควรเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ ร้านค้าเพื่อหาสินค้าที่มีราคาเหมาะสมที่สุดเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย