โอดทำนาขายคาร์บอนเครดิตได้เงินน้อย หนุนอัดฟางข้าวขาย ทำเงินดีกว่า

08 ก.ย. 2567 | 07:06 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 07:28 น.

นายกสมาคมชาวนาฯ ชี้ส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวเปียกสลับแห้งขายคาร์บอนเครดิต ไม่ค่อยเวิร์ก ทำได้แค่พื้นที่มีน้ำและระบบชลประทาน หนุนชาวนาอัดฟางข้าวขายได้ราคาดีกว่า ลดเผา ลด PM2.5 จี้รัฐบาลเร่งเยียวยาน้ำท่วม ดันต่อปุ๋ยคนละครึ่ง เพิ่มผลผลิตรับข้าวเปลือกตันละหมื่น

นายปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่อยากให้เร่งดำเนินการคือ จากที่ก่อนหน้านี้ และในเวลานี้ชาวนาในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เกิดอุทกภัย ทำให้เกิดน้ำท่วมขังนาข้าวได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลได้เร่งสำรวจความสียหาย และจ่ายชดเชยเยียวยาตามเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อให้ชาวนาได้มีเงินทุนในการทำนารอบใหม่หลังน้ำลด

ปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

ขณะเดียวกันอยากให้เร่งผลักดันโครงการ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) และคณะรัฐมนตรีเศรษฐา  ทวีสิน ได้เห็นชอบไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถผลักดันได้ทันในรอบนาปี ที่ชาวนาส่วนใหญ่ได้ปลูกข้าวและซื้อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในการทำนาเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตไปแล้ว

ดังนั้นในรอบนาปรังที่จะมาถึง หรือในรอบนาปี 2568/69 ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายชาวนา หลังรัฐบาลชุดก่อนประกาศชัดเจนไม่มีโครงการช่วยลดต้นทุนการผลิตแก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทโดยจ่ายเป็นเงินสดแล้ว หากรัฐบาลชุดใหม่ยังยึดตามหลักการเดิมคือช่วยเป็นปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง หรือจะเปลี่ยนเป็นจ่ายไร่ละ 1,000 ไร่ เป็นเงินสดตามเดิม ก็ขอให้เร่งสร้างความชัดเจน และเร่งดำเนินการ

โอดทำนาขายคาร์บอนเครดิตได้เงินน้อย  หนุนอัดฟางข้าวขาย ทำเงินดีกว่า

นายกสมาคมชาวนาฯ ยังกล่าวถึง กรณีรัฐบาลสนับสนุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริม และได้มีการทดลองดำเนินการแล้วในบางพื้นที่ ในเรื่องนี้มองว่าในพื้นที่ที่สามารถทำได้ต้องอยู่ในเขตที่มีน้ำในการทำนาอย่างเพียงพอ หรือในเขตชลประทาน เนื่องจากต้องมีการปล่อยน้ำ และเติมน้ำเพื่อทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ขณะในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศใช้น้ำจากธรรมชาติคือน้ำฝน ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้งมาโดยตลอด

“การทำนาแบบเปียกสลับแห้งบางที่ทำได้ แต่บางทีก็ทำไม่ได้ เรื่องทำนาขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละประมาณ 400  บาทมีมาติดต่อผมเยอะเลย ซึ่งในความเห็นส่วนตัว การทำนาแบบเปียกสลับแห้งไม่ได้ช่วยชาวนามากเท่าไหร่ สู้ไปรณรงค์ไม่เผาตอซังและฟางข้าวหลังทำนาจะดีกว่า เพราะยังสามารถอัดฟางข้าวขายได้ก้อนละ 30-40 บาท ซึ่งถ้าเราอัดฟางได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปเผา และตอนนี้ก็มีสารย่อยสลายตอซังข้าว ชาวบ้านก็ทำกันเองได้หมดแล้ว และยังเป็นปุ๋ยได้ด้วย นอกจากนี้การรณรงค์ไม่เผาตอซังข้าวยังช่วยลดฝุ่น PM2.5 ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนลงได้ด้วย”

อย่างไรก็ดีเวลานี้จากราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยขายได้ราคาหลักหมื่นบาทต่อตันขึ้นไป ส่งผลให้ชาวนาที่มีน้ำ หรือแหล่งน้ำ ได้เร่งทำนาเพื่อสร้างรายได้ จากราคาข้าวเปลือกเจ้าทั่วไปยังอยู่ที่ระดับ 10,000 กว่าบาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานีเกี่ยวสด 11,500 บาทต่อตัน จากประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ ชาวนาขายข้าวเปลือกเจ้าได้เฉลี่ยเพียง 7,000-8000 บาทต่อตัน

ส่วนหนึ่งผลจากเวียดนามส่งออกข้าวได้ลดลง จากผลผลิตลดลงตามสภาพดินฟ้าอากาศ ส่วนอินเดียยังงดการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาว เพื่อคุมราคาข้าวในประเทศไม่ให้สูง และเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งอินเดียปีนี้ฝนฟ้าดี คาดได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาว อาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวทั้งในประเทศและในตลาดโลกของไทย