net-zero

ดันปลูกข้าว ลดก๊าซเรือนกระจก รัฐระดม 118 ล้านยูโร หนุนชาวนา 2.5 แสนราย

    กรมการข้าว เตรียมคิกออฟ โปรเจ็กต์ “Thai Rice GCF” ต.ค.นี้ หลังได้รับเงินอุดหนุนจากเยอรมัน 38 ล้านยูโร เพิ่มศักยภาพชาวนา 21 จังหวัด หนุนการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ยังไมรวมงบอุดหนุนจากอื่นรวม สูงสุด 118 ล้านยูโร เป้า 5 ปี คาดลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 2.4 ล้านตัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้รับการอนุมัติจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) อนุมัติเงินสนับสนุน 38 ล้านยูโร ในการดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) ภายใต้การดำเนินการของโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

โดยตลอด 5 ปี (ปี2567-2572) เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่า และเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภูมิอากาศ และขยายผลการดำเนินงานของโครงการ Thai Rice NAMA ทั้งเชิงพื้นที่และเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ โดยสนับสนุนแก่ชาวนารายย่อยกว่า 253,400 ราย รวมทั้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq)

ดร.อรทัย ใจตุ้ย ผู้อำนวยการกลุ่มวิเทศสัมพันธ์และโครงการพิเศษ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า ทางกรมได้ถอดบทเรียน โครงการ Thai Rice NAMA เป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยการสนับสนุนชาวนากว่า 1 แสนรายในการปรับเปลี่ยนไปสู่การทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้วยการให้ความรู้ผ่านการอบรม ประกอบกับมาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดการลงทุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวข้อง กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา ในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรี อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี และได้ขยายขยายพื้นที่การดำเนินโครงการเพิ่มเติมไปสู่จังหวัดข้างเคียง เช่น กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร ลพบุรี และนครราชสีมา ซึ่งโครงการได้สิ้นสุดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

จากความสำเร็จของโครงการดังกล่าว จึงได้นำมาต่อยอดในโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ในโครงการ Thai Ricr GCF ด้วยงบประมาณสูงสุดถึง 118 ล้านยูโร ผ่านการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ อาทิ กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) ที่อนุมัติเงินสนับสนุนมาแล้ว 38 ล้านยูโรป

รวมถึงกรมการข้าว, สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRIR), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (BMZ) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมข้าว และอื่น ๆ ที่จะเชิญเข้ามาร่วมสนับสนุนในอนาคตต่อไป

ดันปลูกข้าว ลดก๊าซเรือนกระจก รัฐระดม 118 ล้านยูโร หนุนชาวนา 2.5 แสนราย

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายในการปรับตัว เพื่อรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของชาวนารายย่อยจำนวน 253,400 ราย และสมาชิกในครัวเรือน 750,000 ราย ในพื้นที่เป้าหมาย 21 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธ์ุ นครราชสีมา บุรีรัมย์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อ่างทอง  ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และลพบุรี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาได้อย่างน้อย 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายใต้ระยะดำเนินการของโครงการ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มคิกออฟ ประมาณเดือนตุลาคม 2567 นี้

ทั้งนี้ รูปแบบของการดำเนินงานของโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) จะขับเคลื่อนโครงการในเชิงบูรณาการได้อย่างเป็นระบบผ่าน 10 กิจกรรมหลัก อาทิ การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีปล่อยคาร์บอนตํ่า การปรับพื้นที่แปลงนาด้วยระบบเลเซอร์ , การจัดการนํ้าระดับแปลงนา เช่น ในเขตชลประทานควรทำระบบน้ำเข้าออกคนละทาง เช่น เกิดวิกฤตินํ้าเค็มรุก เป็นต้น

การทำนาเปียกสลับแห้ง,การใส่ปุ๋ยตามวิเคราะห์ดิน, การใช้พันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศ และการรับรองมาตรฐาน SRP ของข้าวที่ทำนาอย่างยั่งยืน รวมถึงระบบการรับซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าชาวนามีการปฏิบัติ ตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรแนวทางปฏิบัติที่เท่าทันต่อภูมิอากาศรวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐาน SRP / GAP

พร้อมสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงทางการตลาดระหว่างภาคเอกชน (ผู้รับซื้อข้าว) และชาวนา (รวมถึงโรงสี) ที่ปลูกข้าวด้วย วิธีทำนายั่งยืนและเท่าต่อภูมิอากาศตามแนวทางที่โครงการฯ ส่งเสริม เป็นต้น

เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ นํ้าถึง 50% เพิ่มผลผลิตการทำนา 20% เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา 20% สร้างงานให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพดินและป้องกันการเสื่อมสภาพของพื้นที่เพาะปลูกได้อีกด้วย

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า โครงการ Thai Rice GCF มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนข้าวไทย โดยจะบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการเปิดตัวแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสภาพอากาศในวงกว้าง ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรหลายพันรายทั่วประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มในปี พ.ศ. 2567 และสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2572