เฟดลดดอกเบี้ย ผวาบาทแข็งโป๊ก ส่งออกป่วน ออร์เดอร์ Q4 แข่งขาดทุน-นำเข้าเฮ

19 ก.ย. 2567 | 07:00 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 07:43 น.

บาทแข็ง-เฟดขึ้นดอกเบี้ยจ่อทุบซ้ำ ส่งออกไทยป่วน ส่งมอบสินค้าไตรมาส 4 -เจรจาออร์เดอร์ใหม่เสี่ยงขาดทุนอ่วม จับตากระทบหนักสินค้าเกษตร กระทบชิ่งเกษตรกรถูกกดราคา อีกด้านนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ เชื้อเพลิง รับอานิสงส์ เร่งนำเข้าต้นทุนถูกเติมสต๊อก

ค่าเงินบาทไทยเคยอ่อนค่าที่ระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566  และในช่วงต้นปี 2567 อ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา แต่ล่าสุดในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% ล่าสุด (19 ก.ย. 67) อยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED (18 ก.ย. 2567) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ 0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจากอัตรา 5.25 ถึง 5.50% สู่อัตรา 4.75 ถึง 5.00% หลายฝ่ายจับตามองจะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย  และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่า 7% ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทยที่ต้องแข่งขันด้านราคากับสินค้าจากประเทศคู่แข่งขันในตลาดส่งออก แบ่งเป็น 1.ผู้ส่งออกที่ส่งมอบสินค้าให้คู่ค้าไปแล้ว และยังไม่ได้รับการชำระค่าสินค้า(ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) และไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (ฟอร์เวิร์ด) ไว้จะเจ็บตัวทันทีจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

2.กลุ่มที่ยังไม่ได้ขายสินค้าและกำลังจะขาย ในการนำเสนอราคาใหม่แก่คู่ค้าหรือลูกค้า อาจจะมีการยื้อหรือชะลอคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์) โดยในส่วนของผู้ส่งออกก็อยากขอเพิ่มราคาตามค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่ลูกค้าก็ไม่อยากซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นการชะลอทั้งคู่ โดยผู้ส่งออกก็รอลุ้นอัตราแลกเปลี่ยนจะกลับมาดีขึ้นหรือไม่ ยังผลกระทบต่อการเสนอขายสินค้าในปัจจุบัน

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

“ในส่วนของผู้ส่งออกหากรอไม่ได้ก็ต้องยอมขายขาดทุนไป โดยเฉพาะในรายที่วางแผนการผลิตไว้แล้ว และจำเป็นจะต้องมีการขาย หรือมีการระบายสินค้าออกไป  ไม่เช่นนั้นสินค้าที่ผลิตและเก็บไว้นานก็จะมีภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงอยู่ ในรายที่ต้นปีทำกำไรไว้ ก็ยอมขาดทุนช่วงปลายปี ในภาพรวมผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าจะกระทบทั้งผู้ส่งออกที่ส่งมอบสินค้าไปแล้ว และผู้ส่งออกที่อยู่ระหว่างเจรจาออร์เดอร์เพื่อส่งมอบสินค้าช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า”

ต่อคำถามที่ว่า หากสถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นเช่นนี้ ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นจะมีผลให้คู่ค้าอาจตัดสินใจไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นหรือไม่

นายวิศิษฐ์ ให้ความเห็นว่า ก็มีโอกาส ซึ่งที่ผ่านมาภาวะแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วกับหลายสินค้าของไทย เฉพาะอย่างยิ่งการหันไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า อย่างไรก็ดีในหลายสินค้าของไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานเชื่อถือได้ มีความปลอดภัย ลูกค้าก็ยังสั่งซื้อ และยังพอสู้ได้ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรงอย่างต่อเนื่อง ณ เวลานี้ คู่ค้าจะตัดสินใจซื้อจากเรื่องราคาไว้ก่อน คุณภาพไว้ทีหลัง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคก็ไม่อยากจะควักเงิน ทำให้ผู้ส่งออกไทยอยู่ในภาวะความยากลำบากของการขายสินค้า เพราะเสนอราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐหากไม่บวกราคาเพิ่มก็อาจขาดทุน หรือมีกำไรที่ต่ำลง

อย่างไรก็ดีจากที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ได้ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50%  และระบุจะปรับลดลงอีกหนึ่งรอบ อีก 0.50% ในเดือนที่เหลือของปีนี้ มองว่าจะมีผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้นอีกแน่นอน เพราะการลดดอกเบี้ยของสหรัฐที่ผ่านมา ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สวนทางกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเวลานี้เงินบาทของไทยแข็งค่าเป็นอับดับต้น ๆ ของภูมิภาค

ขณะที่ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1.จากกระแสข่าวที่สหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเงิน 2.เงินทุนไหลเข้าตลาดทุนของไทย จากความเชื่อมั่นไทยมีรัฐบาลใหม่ และไทยมีกองทุนรวมวายุภักษ์ที่ออกใหม่เพื่อเป็นทางเลือกในการออม อย่างไรก็ตามทั้งสองปัจจัยสำคัญดังกล่าวยังเป็นปัจจัยชั่วคราว ไม่ใช่ปัจจัยยั่งยืนระยะยาวที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า เพราะเวลานี้ยังมีความผันผวน และความไม่นิ่งของค่าเงินบาทที่อาจจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าลงได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออก และผู้นำเข้ายังต้องเผชิญต่อไป

“ในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็ได้ใช้วิธีประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือการทำฟอร์เวิร์ดที่ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจเอาเอง เพราะผู้ประกอบการทั่วไปจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่จะมาคอยประเมินว่าจังหวะไหนควรทำ แต่วิธีง่าย ๆ ก็คือ ทำเมื่อเวลามีออร์เดอร์มาเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ต้องล็อกอัตราแลกเปลี่ยนเผื่อไว้สำหรับอนาคต”

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวอีกว่า จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในเวลานี้ กลุ่มสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบอยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา ผักผลไม้สด ผลไม้แปรรูป รวมถึงสินค้าอาหารในภาพรวม ทั้งนี้หากผู้ส่งออกมีรายได้และกำไรลดลง หรือขาดทุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลต่อการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำลงเพื่อลดต้นทุน แต่หากเป็นสินค้าเกษตร-อาหารพันธสัญญา (คอนแทร็กฟาร์ม)ที่มีการประกันราคากันไว้ก็ต้องซื้อตามราคาเดิม

อีกด้านหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลาย หากผู้ส่งออกขายสินค้าได้ตามเป้าหมายก็มีโอกาสปรับขึ้นราคาวัตถุดิบ โดยมีปัจจัยการแข่งขันสูงในตลาดที่มีผลผลิตจากประเทศอื่นเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมากด้วย

อย่างไรก็ดีในกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากการแข็งค่าของเงินบาท อยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูป สินค้าเชื้อเพลิง ที่ต้นทุนการนำเข้าจะถูกลงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้สามารถนำเข้าสินค้าเข้ามาสต๊อก หรือเติมสต๊อกที่ลดลงได้