“มิลค์บอร์ด” ยันผลสอบนมโรงเรียน 7 กลุ่มบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์

20 ก.ย. 2567 | 08:51 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2567 | 09:06 น.

เปิดผลสอบ “มิลค์บอร์ด” ยันไม่มีทุจริต ไซฟ่อน นมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ตามข้อกล่าวหา 7 กลุ่มบุคคลถูกพาดพิงเป็นผู้บริสุทธิ์ “ปลัดเกษตร” สั่งเดินหน้าโครงการนมโรงเรียน ปี 2567 ทันที

ตามที่มีผู้ร้องเรียน (สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด )  ได้ยื่นหนังสือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกรัฐมนตรี  ถึงโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือนมโรงเรียน เรื่อง ข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) นำมาใช้ในการบริหารจัดการนมทั้งระบบ ไม่มีความถูกต้องตรงตามปริมาณน้ำนมดิบที่มีอยู่จริง

 

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

โดยมีการตกแต่งตัวเลขข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบเพื่อหวังผลประโยชน์ ทำให้มีปริมาณมากกว่าความเป็นจริง   "ไซฟ่อนนม”  ทางร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคจากฟาร์มทุกฟาร์ม และศูนย์รวบรวมน้ำนมโคทุกแห่ง เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำนมโคให้สอดคล้องกันทั้งประเทศ เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2567 สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 60 จังหวัด (จังหวัดที่มีเกษตรกรมากกว่า 500 ราย จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และประจวบคีรีขันธ์) โคนม 740,729 ตัว (เป็นโคนมที่กำลังรีดนม 321,135 ตัว) เกษตรกร 21,290 ราย และศูนย์รวบรวมน้ำนมโค จำนวน 208 ศูนย์

นัยฤทธิ์ จำเล

นายนัยฤทธิ์ จำเล  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตมิลค์บอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคทั้งระบบ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลปริมาณน้ำนมโคที่แท้จริง และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยปลัดเกษตรฯ ก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบตามที่ผู้กล่าวหาร้องเรียน ซึ่งผลสรุปไม่พบความผิดทั้งทางบุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อกล่าหา จึงได้รายงานให้ทางรัฐมนตรีรับทราบไปแล้วหลังจากนั้นทางมิลค์บอร์ด ได้กลับมาจัดสรรการแบ่งพื้นที่สิทธิจำหน่ายในโครงการนมโรงเรียน ปี 2567 ทันทีเพราะเป็นห่วงว่าเด็กจะไม่ได้ดื่มนมทันเปิดเทอมในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในหนังสือร้องเรียนของสหกรณ์โคมนมวังน้ำเย็น จำกัด ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี(เศรษฐา  ทวีสิน) เรื่องความล้มเหลวของอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยในห้วงที่ผ่านมาและการทุจริตในโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียนช่วง 5 ปีการศึกษาที่ผ่านมา ที่ระบุพบมีกลุ่มบุคคล 7 กลุ่มได้ร่วมกันกระทำความผิด ส่งผลเสียหายต่ออาชีพเกษตรกรเลี้ยงโคนมของประเทศไทย

โดยข้อความร้องเรียนของหนังสือส่วนหนึ่งได้พาดพิงถึงบุคคลในกลุ่มที่ 5 คือ สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ มีสมาชิกเป็นศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบภาคเอกชน ระบุ มี น.ส.สิริวรรณ  วรวุธ ผู้จัดการสมาคมฯทำตัวเป็นเอเยนซี่รับปั้นตัวเลขปริมาณน้ำนมโคใน MOU ให้กับสมาชิก โดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการ และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบตันละ 5,000 บาท/เดือน รวมถึงข้อร้องเรียนที่พาดพิงกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 7 กลุ่ม ซึ่งจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมาพบไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ทั้ง 7 กลุ่มบุคคลจึงพ้นข้อกล่าวหาและถือเป็นผู้บริสุทธิ์

สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น ในปี 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ด้วยเห็นว่าเด็กไทยควรได้ดื่มนมซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อันจะส่งผลให้พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ขึ้นอยู่กับจำนวนเด็ก ตั้งแต่อนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเฉลี่ย 14,000 ล้านบาท/ปี