ชาวไร่อ้อย นัด 23 ก.ย. ทวงถามค่าตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท

21 ก.ย. 2567 | 07:44 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2567 | 07:46 น.

ยังไม่ได้เงิน ! ชาวไร่อ้อย นัด 23 ก.ย. ทวงถาม "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" ค่าตัดอ้อยสด ลดโลกร้อน ตันละ 120 บาท ชี้ปีถัดไปขอความชัดเจน เพราะค่าใช้จ่ายมากกว่าการเผาอ้อย แต่หากรัฐไม่ช่วยเหลือ เกษตรกรอาจจะหันมาเผาอ้อยที่ตัดได้เร็วกว่า

 

นายธีระชัย แสนแก้ว

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ในวันที่ 23 กันยายนนี้ ทางผู้แทนสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และผู้แทน 3 องค์กรชาวไร่อ้อยขอเข้าพบนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนใหม่ เพื่อให้ช่วยเหลืองบประมาณตัดอ้อยสดคุณภาพดีช่วยลดฝุ่น PM 2.5 120 บาท/ตัน ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยซึ่งยากลำบาก ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลทำการตัดอ้อยสด ซึ่งมีต้นทุนมีความยากลำบากมากกว่าปกติ ช่วยลดปัญหาการเผาอ้อย จึงอยากขอเงินชดเชย 120  บาท/ตัน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี

 

ชาวไร่อ้อย นัด 23 ก.ย. ทวงถามค่าตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท

“ก่อนหน้านี้ (29 ส.ค.67)  นายภูมิธรรม เวชยชัย  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น ได้รับปากกับตัวแทนชาวไร่อ้อย ว่าได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และตัวแทนเกษตรกร โรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หารือกัน ให้ สอน. ดำเนินการเรียกประชุมให้ได้ข้อสรุปภายในหนึ่งเดือน เพื่อส่งเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ จึงมาทวงสัญญา ขอให้รัฐบาลช่วยเหลืองบประมาณตัดอ้อยสดคุณภาพดีช่วยลดฝุ่น P.M  2.5 ตันละ 120 บาท เนื่องจากการตัดอ้อยสด มีต้นทุนมากกว่าการตัดปกติ อีกทั้งยังเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยและฝุ่น PM 2.5"

นายธีระชัย กล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยทุกปี ก็จะขอความชัดเจนเลยว่าในฤดูถัดไปหากจะให้เกษตรกรช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยและฝุ่น PM 2.5ก็ขอให้จ่ายเร็วขึ้น และปัจจุบันต้นทุนการเพาะปลูกสูง ทั้งทั้งปุ๋ย ค่าแรงงาน และ น้ำมัน   แต่ก็เข้าใจว่าเป็นรอยต่อของรัฐบาลที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ แต่กรรมการในสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไม่ได้เปลี่ยน ก็น่าที่จะจัดประชุมได้ แต่ทำไมไม่ทำ ก็จะขอคำตอบในวันนั้นว่าจะประชุมเมื่อไร เพื่อที่จะนำเสนอ ครม.ให้เร็วที่สุด

 

ชาวไร่อ้อย นัด 23 ก.ย. ทวงถามค่าตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท

อนี่ง โครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น pm 2.5 คาดว่ามีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย ซึ่งโครงการฯ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อย ที่ส่งผลต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 


สาระสำคัญ คือ 1. จะจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการฯ ในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถดำเนินการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี และนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อย เช่น เกษตรกรใช้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือการเตรียมร่องดินให้เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวได้ เป็นต้น 
 

ทั้งนี้ โรงงานต้องจัดส่งข้อมูลคู่สัญญาชาวไร่อ้อย พร้อมจำนวนตันอ้อยสดที่ส่งโรงงานและสำหรับหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ซึ่งได้ดำเนินการรวบรวมอ้อยจากชาวไร่อ้อยรายย่อยส่งให้กับโรงงานต่าง ๆ จะต้องแสดงบัญชีรายชื่อชาวไร่อ้อยรายย่อย ที่อยู่ในสังกัดพร้อมจำนวนตันอ้อยสด เพื่อที่ ธ.ก.ส. จะได้โอนเงินช่วยเหลือไปยังบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยรายย่อยโดยตรง

 

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1. ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาลจะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย 2. ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอล หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดงจะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ชาวไร่อ้อย นัด 23 ก.ย. ทวงถามค่าตัดอ้อยสด ตันละ 120 บาท

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)  ระบุ ข้อดีของการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยสดคุณภาพดีปราศจากการเผา “อ้อยตัดสด งดการเผา” ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านรายได้ อ้อยมีน้ำหนักดี ความหวานสูง มีผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยได้มากขึ้น ผลผลิตน้ำตาลทรายมีคุณภาพ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และวัตถุปรับปรุงดิน ไม่ถูกตัดราคา ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการวัชพืช ด้านการจัดการ มีความยืดหยุ่นในการผลิต ใบอ้อยที่ไม่ถูกเผาจะคลุมดิน ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน การไม่เผาทำให้มีแมลงหางหนีบมากขึ้น (ช่วยควบคุมหนอนกอระบาด) ใบอ้อยที่คลุมดินเป็นที่อยู่ของแมลงศัตรูธรรมชาติ และด้านสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ สร้างระบบนิเวศน์ในแปลงอ้อย เป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืน