น้ำท่วม ทุบ ศก.เสียหาย 2.4 หมื่นล้าน "เชียงราย" อ่วมสุด 6.4 พันล้าน

28 ก.ย. 2567 | 01:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2567 | 01:57 น.

หอการค้าฯประเมินผลกระทบน้ำท่วมเหนือ-อีสาน สร้างความเสียหายเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้าน ภาคเกษตรอ่วมสุด 1.9 หมื่นล้าน เชียงรายเสียหายมากสุด 6.4 พันล้าน ชี้อย่าชะล่า หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยง ระบุสาเหตุหลักจากโลกเดือด

จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน  ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 ถึง ณ ปัจจุบันในหลายจังหวัดเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงรายอยู่ระหว่างการฟื้นฟูบ้านเรือน และพื้นที่เศรษฐกิจให้กลับคืนสู่ปกติในเร็ววัน ขณะที่ภาครัฐเร่งสำรวจเพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหาย ล่าสุดทุกฝ่ายจับตามวลน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังไหลลงสู่ภาคกลางจะส่งผลกระทบตามมามากน้อยเพียงใดนั้น

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567อัปเดตล่าสุด ณ วันที่ 24 กันยายน 2567 คาดจะมีความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,251 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 0.14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)

ภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.6 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 911,063 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 1,668,530 ไร่ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด มีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 19,376 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79.9% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 4,713 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 162 ล้านบาท

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 2,689 ล้านบาท สุโขทัย 2,265 ล้านบาท หนองคาย 2,030 ล้านบาท และนครพนม 1,576 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะฝนตกหลังเขื่อนที่อาจสร้างผลกระทบเพิ่มเติม ดังนั้น ในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

สำหรับน้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักเจออยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งก็มีสาเหตุหลักมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Climate change) โดยในช่วงต้นปีประเทศไทยเจอภาวะ “เอลนีโญ" ที่ส่งผลให้ไทยและภูมิภาคใกล้เคียงเกิดภัยแล้งและฝนตกน้อย แต่ช่วงสิงหาคมเป็นต้นมาไทยเริ่มเผชิญภาวะ “ลานีญา” ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม

"ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเริ่มเกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท ดังนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบอย่างจริงจัง"

ในระยะสั้น หอการค้าไทยจึงเสนอให้รัฐบาลรื้อฟื้นแผนการวางระบบบริหารจัดการน้ำในอดีตที่รัฐบาลได้เคยนำเสนอไว้ โดยเฉพาะแผนจัดการส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยามาปรับปรุงและเร่งผลักดันโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อนผ่านงบประมาณปี 2568 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับภาคเกษตรและประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที

ส่วนในระยะกลาง-ยาว เสนอให้รัฐบาลจัดเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนา ปรับปรุง และซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดย่อมในแต่ละชุมชนให้เป็นแหล่งกักเก็บสำหรับภาคการเกษตรและการอุปโภคบริโภคในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึงตลอดทั้งปี โดยเร่งรัดดำเนินโครงการผ่านงบประมาณปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Productivity ให้กับผลผลิตและสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยได้มากยิ่งขึ้น