บิ๊กเอกชนประสานเสียง ศก.ไทยโค้งท้าย “โตแกร่ง” WHA ตุนหมื่นไร่รับลงทุนปี 68

08 ต.ค. 2567 | 22:29 น.

ลงทุน-ท่องเที่ยว-แจกเงินหมื่น ค้ำเศรษฐกิจไทยฝ่าไฟสงคราม บิ๊กเอกชนลุ้นจีดีพีปี 67 โต 2.7% เลือกตั้งสหรัฐตัวแปรเศรษฐกิจโลกปี 68 WHA มองบวก คลื่น FDI ไหลเข้า ตุนที่หมื่นไร่รับลงทุน ททท.เล็งต่างชาติเที่ยวไทยปีหน้า 39 ล้านคน “ซีอาร์ซี” ยักษค้าปลีก รอก๊อกสองปลุกกำลังซื้อ

เศรษฐกิจไทยเดินทางมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ท่ามกลางปัจจัยบวก และปัจจัยเสี่ยง ทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกที่ยังมีอยู่มาก ปัจจัยภายในที่สำคัญคือ น้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ ที่เวลานี้มวลน้ำก้อนใหญ่กำลังไหลบ่าลงสู่ภาคกลาง สุ่มเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดลุ่มนํ้าเจ้าพระยา จากก่อนหน้านี้น้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจในหลายจังหวัดได้รับความเสียหายรวมกันแล้วหลายหมื่นล้านบาท

ส่วนปัจจัยนอกประเทศ สงครามเผชิญหน้ากันระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านส่อปะทุรุนแรง ดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นรายวัน อย่างไรก็ดีในมุมมองของผู้นำภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐยังมองทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 รวมถึงในปี 2568 ยังเป็นไปในทิศทางบวก

เงินหมื่น-ท่องเที่ยวค้ำจีดีพี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ณ เดือนตุลาคม เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.2-2.7% ซึ่งโดยส่วนตัวคาดน่าจะทำได้ที่ 2.7%

มีปัจจัยบวกหลายปัจจัย อาทิ รัฐบาลได้แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้กลุ่มเปราะบางรวมประมาณ 1.45 แสนล้านบาท คาดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขยายตัวได้เพิ่ม 0.2% รวมถึงจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกของไทยปีนี้คาดจะขยายตัวได้ที่ 1.5-2.5%

บิ๊กเอกชนประสานเสียง ศก.ไทยโค้งท้าย “โตแกร่ง” WHA ตุนหมื่นไร่รับลงทุนปี 68

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังคือ การแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกของผู้ประกอบการไทย สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ที่โลกจับตาจะมีการตอบโต้กันไปมารุนแรงแค่ไหน

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

รวมถึงสงครามอิสราเอลกับอีกหลายกลุ่มที่อิหร่านให้การสนับสนุน จะลุกลามกลายเป็นสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่ ซึ่งจะกระทบทำให้ราคาน้ำมัน และราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และจะกระทบราคาน้ำมันในประเทศ และต้นทุนผู้ประกอบการไทยปรับตัวสูงขึ้น

เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อเนื่องในปี 2568 ล่าสุด กกร.ได้ทำสมุดปกขาวนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีสาระสำคัญใน 4 ด้าน คือ 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน 2.การช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3.การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่อนาคต

4.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขับเคลื่อนกรีนอินดัสตรีโดยมีมาตรการด้านภาษีจูงใจผู้ประกอบการ ทั้งนี้หากรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่น และรวมพลังกับภาคเอกชนขับเคลื่อนไปด้วยกัน เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

เลือกตั้งสหรัฐชี้ชะตาโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายของปีนี้มองว่าจะกระเตื้องดีขึ้น จากเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก โดยปีนี้คาดต่างชาติเที่ยวไทยจะมีประมาณ 35-36 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ส่วนเครื่องยนต์ตัวที่สองคือ การส่งออก กกร.คาดปีนี้จะขยายตัวได้ 1.5-2.5% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั้งเงินบาทที่แข็งค่า และสงครามในตะวันออกกลาง

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ต้องรักษาการส่งออก และการท่องเที่ยวไม่ให้สะดุดเพื่อทำให้จีดีพีของไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2.2-2.7% ตามที่ กกร.ได้คาดการณ์ไว้ ส่วนปี 2568 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายตัวที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญสุดคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ก่อให้เกิดสงคราม ที่เวลานี้โลกกำลังจับตาใกล้ชิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน หากลุกลามเป็นสงครามในภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งที่จะตามมาคือ ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล”

นอกจากนี้ต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย.นี้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะเป็นใคร ระหว่างกมลา แฮร์ริส กับโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทยในปีหน้า

WHA ตุนหมื่นไร่รับลงทุน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ สาธารณูปโภค พลังงาน และดิจิทัลโซลูชัน กล่าวว่า ไตรมาส 4 ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น เพราะปกติแล้วการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีจะดีขึ้น

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด Google ได้ประกาศลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และ Cloud Region ในไทย จากก่อนหน้านี้ไฮเออร์จากจีนได้เตรียมลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออก (ทั้ง 2 โครงการตั้งอยู่ในนิคมฯ WHA) ซึ่งจากที่เกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดจะยังยืดเยื้ออีกหลายปี ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ได้รับอานิสงส์ นักลงทุนต่างชาติได้ย้าย / ขยายฐานการลงทุนเข้ามามากขึ้น

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA

“นอกจาก Google ที่เราไปดีล มาลงทุนได้แล้ว ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า น่าจะมีการประกาศข่าวดีอีก 2-3 ดีล ในกลุ่มดาต้าเซ้นเตอร์ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และอื่น ๆ ที่เรากำลังดีลเข้ามา ทั้งนี้ไทยมีจุดเด่นด้านที่ตั้ง มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนที่ดี ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์สนับสนุน และเรามีแรงงานที่มีทักษะที่ดีรองรับ”

เวลานี้ WHA ได้ซื้อที่ดินตุนไว้เพื่อการพัฒนานิคมฯรองรับการลงทุนอีกเกือบ 1 หมื่นไร่ ในภาพรวมนักลงทุนที่เข้ามามากในเวลานี้ ในพอร์ตของกลุ่ม อันดับหนึ่งยังเป็นญี่ปุ่น แต่เริ่มมีสัดส่วนลดลง จากเมื่อก่อนคิดเป็นสัดส่วน 39% เวลานี้ลดลงเหลือประมาณ 29% ขณะที่การลงทุนจากจีนจากเดิมมีสัดส่วน 2-3% เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% เฉพาะช่วง 3-4 ปีมานี้จีนมาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 50-60%

บีโอไอลุย 5 อุตฯ ดูด FDI ปี 68

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า คาดในปี 2567 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยในภาพรวม จะมีมูลค่ามากกว่า 8 แสนล้านบาท ขยายตัวมากสุดในรอบ10 ปี โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน ดาต้าเซ็นเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความโดดเด่นขอรับส่งเสริมต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งไทยได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากไทยมีจุดยืนที่เป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับไทย มีพลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ในการรองรับการลงทุนที่ดี และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่จูงใจ

สำหรับปี 2568 คาดการลงทุนในไทยยังดีต่อเนื่อง มี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV), เซมิคอนดักเตอร์, ดิจิทัล, อาหารแห่งอนาคต และพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุนในอุตสาหกรรมยุคใหม่

ท่องเที่ยว Q4-Q1/ 68 คึกไฮซีซัน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยช่วงหยุดยาววันชาติจีนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เดิมคาดไว้ 1.3 แสนคน แต่มีเข้ามามากกว่า 2 แสนคน ซึ่งภาคเอกชนสะท้อนตัวเลขมาว่ายอดจองช่วงวันชาติจีน บวกขึ้นสูงสุดถึง 200%

ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากจะไปให้ถึงเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตั้งไว้ 36.7 ล้านคนในปีนี้ จะต้องดึงต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่มอีก 20% เทียบกับปี 2566 แบ่งเป็นเดือน ต.ค. อยู่ที่ 2.1 ล้านคน เดือน พ.ย. 2.6 ล้านคน เดือน ธ.ค.3.2 ล้านคน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

จากเป้าหมายดังกล่าว มองว่าไม่ได้ยาก เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนเที่ยวบินที่ฟื้นตัวกลับคืนมามากขึ้น ทั้งการเปิดเส้นทางใหม่ และการกลับมาบินอีกครั้ง อาทิ เยอรมนี เดิมบินแบบเช่าเหมาลำ ก่อนจะเริ่มบินแบบพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงเห็นในบางตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นแบบดีวันดีคืน อาทิ ออสเตรเลีย บินไปยังภูเก็ต-กระบี่-พังงา ถือว่าการท่องเที่ยวภาคใต้เติบโตได้ดีมากขึ้นแล้ว

ด้านตลาดระยะใกล้ ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจากหลายเมือง อาทิ โกลกาตา อาห์มาดาบัด

รวมถึงการจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดต่าง ๆ อาทิ หนีห่าว มันธ์ มาตรการวีซ่าฟรี การจัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวระดับนานาชาติ อาทิ งานอะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน แบงค๊อก 2024 ในเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีผู้ร่วมงาน 30,712 คน แยกเป็นนักวิ่งต่างชาติ 6,000 คน คิดเป็น 20% ทำรายได้ทางตรงไม่น้อยกว่า 485 ล้านบาท รวมถึงยังเตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยว 5 ภาค เพื่อตามรอยหมูเด้ง ที่กำลังได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ด้วย

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2568 ททท. คาดแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 38.29 ล้านคน สร้างรายได้ 2.106 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และไทยเที่ยวไทย 203.80 ล้านคนครั้ง เพิ่มขึ้น 11% สร้างรายได้ 1.134 ล้านล้านบาท หรือสร้างรายได้รวม 3.240 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ประเมินจากภาพรวมการท่องเที่ยวปี 2567

ส่วนเป้าหมายการทำงานนั้น ททท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 39 ล้านคน สร้างรายได้ 2.232 ล้านล้านบาท ไทยเที่ยวไทย จำนวน 205 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้ 1.170 ล้านล้านบาท รวมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.402 ล้านล้านบาท

บุ๊กกิ้งบินเที่ยวไทยแน่น

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยอดจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้า มีการเติบโตราว 10% เทียบกับปีที่แล้ว และดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งปัจจัยเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท และสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ยังไม่เห็นถึงผลกระทบในขณะนี้

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย

โดยบุ๊กกิ้งการจองเข้าไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ไม่ได้ลดหรือหายไป ซึ่งสายการบินมีแผนจะเช่าเครื่องบินระยะสั้นเพิ่มอีก 2 ลำ ในรุ่นแอร์บัส เอ 319 หรือ เอ 320 เพื่อจะนำมาบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่วนทิศทางในปีหน้าก็อาจจะขยับเพิ่มขึ้นได้อีก

ลุ้นก๊อก 2 รัฐปลุกกำลังซื้อ

นางสาวปิยวรรณ ลีละสมภพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี กล่าวว่า ภาพรวมไตรมาส 4 มองว่ายังเป็นบวก ซึ่งเป็นไปในทางที่ดี ปัจจัยแรกมาจากเรื่องการแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงซีอาร์ซีเอง ไม่ได้อานิสงส์มากนัก จะมีเพียงไซส์เล็ก เช่น ท็อปส์ เดลี่ เท่านั้นที่มีลูกค้ามาใช้บริการบ้าง

แต่สิ่งที่บริษัทคาดหวังคือมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อระลอกใหม่ ที่รัฐบาลจะออกมาเพื่อช่วยให้เกิดการจับจ่าย ซึ่งจะเป็นกลุ่มของลูกค้าระดับกลางขึ้นบน และมีกำลังซื้อสูง เช่นเดียวกับโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา เช่น easy e-receipt หรือ ช้อปช่วยชาติ เป็นต้น ขณะเดียวกันในไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซัน ที่จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้หลายโรงแรมมียอดจองห้องพักสูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าภาพรวมไตรมาส 4 นี้จะดีกว่าปีก่อน

“ส่วนในปีหน้าภาพรวมค้าปลีกเชื่อว่าคงเติบโตได้ โดยซีอาร์ซี ยังเดินหน้าแผนลงทุนต่อเนื่องต่อให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ก็ยังลงทุนทั้งที่ในไทยและต่างประเทศ เช่นที่เวียดนามและอิตาลี โดยยังคงใช้งบลงทุน 2 - 3 หมื่นล้านบาท ไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างไรตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทำมากขึ้นคือการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย พร้อมเดินหน้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น”