เปิดผลงาน “ธรรมนัส” ลุยจับยางเถื่อน-ยกมาตรฐาน EUDR ดันราคายาง สูงสุดรอบ 12 ปี

31 ส.ค. 2567 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 09:37 น.

กนย. เปิดผลงาน “ธรรมนัส” ลุยจับยางเถื่อน-ยกมาตรฐาน EUDR ดันราคา 96.66 บาท/กก. สูงสุดรอบ 12 ปี โชว์ส่งท้าย ก่อนส่งต่อให้รัฐมนตรีเกษตรฯคนใหม่สานงานต่อ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งสุดท้าย โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปผลงานภายใต้  “ทีม ฉก. พญานาคราช”  ซึ่งเป็นชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมงผิดกฎหมาย ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมปฏิบัติการและสนับสนุนเจ้าหน้าที่สารวัตรปศุสัตว์ สารวัตรประมงและสารวัตรเกษตรในการเร่งรัดตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรแบบผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการร่วมกับ ปปง. ในการเข้ายึดทรัพย์ และสำนักงานอัยการสูงสุดในการดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อตัดตอนขบวนการดังกล่าวให้สิ้นซาก  ก่อนที่จะเข้าสู่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งการจัดสรรรัฐมนตรีก็ใกล้ลงตัวแล้ว

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

แหล่งข่าวที่ประชุม กนย. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” นับตั้งแต่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศสงครามกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปลอม (วัตถุอันตราย ปุ๋ย และพันธุ์พืช) 100 วัน ทำทันที  โดยเฉพาะที่สินค้าเกษตรที่เห็นผลมากที่สุด ก็คือยางพารา ทำให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 94.44 บาท/กก.เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 และผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 มาจากปัจจัยที่ทำให้ราคายางแผ่นรมควันเพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่รัฐบาล จากความต้องการยางพาราที่ได้มาตรฐานตามที่สางสหภาพยุโรป (EU) ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)

สำหรับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช (Nakaraja Task Force) มีชื่อทางการว่า "ชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกันและปราบปรามสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย" แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เริ่มปฏิบัติภารกิจเมื่อ 30 พ.ย. 2566 โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ในการเข้าตรวจค้น ดำเนินคดี ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่ออายัดทรัพย์ได้มีการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมปฏิบัติการ และสนับสนุนเจ้าหน้าที่สารวัตรปศุสัตว์ สารวัตรประมง และสารวัตรเกษตร ในการเร่งรัดตรวจสอบ ติดตาม และจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรแบบผิดกฎหมาย

เปิดผลงาน “ธรรมนัส” ลุยจับยางเถื่อน-ยกมาตรฐาน EUDR  ดันราคายาง สูงสุดรอบ 12 ปี

นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการร่วมกับ ปปง. ในการเข้ายึดทรัพย์ และสำนักงานอัยการสูงสุด ในการดำเนินคดีทางกฎหมายผู้กระทำผิด เป็นชุดปฏิบัติการเป็นโดยบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และกรมประมง ปปง. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด

สำหรับการปราบปรามลักลอบการนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย โดยทางหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช ได้ร่วมกับด่านความมั่นคงตามเส้นทางที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตร มีพื้นที่ดำเนินการระยะแรกจังหวัดกาญจนบุรี เชียงราย ตาก และระนอง

 

จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ด่านตรวจความมั่นคงชายแดนจุดตรวจสามแยกทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีได้แจ้งการหยุดรถพ่วงขนาด 22 ล้อ บรรทุกยางก้อนถ้วนน้ำหนักประมาณ 29 ตัน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงเอกสารแสดงที่มาที่ไปในการซื้อยางและการจำหน่ายยางต่อเจ้าหน้าที่ได้ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2566 กองการยางได้อายัดยางที่สถานประกอบการของบริษัทดังกล่าวเป็นยางก้อนถ้วย จำนวน 602,627 กิโลกรัม และยางแผ่นผึ่งแห้ง จำนวน 5,790 กิโลกรัม  ปัจจุบันได้ถอนอายัดยางก้อนถ้วย จำนวน 602,627 กิโลกรัม และยางแผ่น 5,790 กิโลกรัม ในส่วนของรถพ่วงขนาด 22 ล้อ นิติกร สำนักนิติการ ดำเนินการให้ผู้ประกอบการเทยาก้อนถ้วย จำนวน 28,010 กิโลกรัม ไว้บนลานปูนของเจ้าของยาง โดยอายัดก้อนถ้วยดังกล่าว และกำลังดำเนินการนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดแรกวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เลื่อนจากเดิม วันที่ 1 กรกฎาคม 2567

 

จังหวัดเชียงราย

วันที่ 31 มกราคม 2567 ศูนย์ควบคุมเชียงรายร่วมกับชุดพญานาคราช ตรวจพบยางก้อนถ้วยน้ำหนัก 9,000 กิโลกรัม มีเหตุอันควรสงสัยตามความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงได้อาศัยอำนาจตามความมาตรา 41 (3) ประกอบมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ทำการยึดอายัดไว้ป็นหลักฐาน ซึ่งปัจจุบันศูนย์ควบคุมยางเชียงราย ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษและได้แจ้งปรับเรียบร้อนแล้ว

 

จังหวัดตาก

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 2 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรแม่สอด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก. ราชมนูเจ้าหน้าที่ฝ่ายการปกครอง ด่านตรวจพืชแม่สอด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สภ.แม่สอด ร่วมกันลาดตระเวน เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายได้พบรถบรรทุกพ่วงต้องสงสัยมิตรภาพไทย-เมียน มา แห่งที่ 2 โดยพบยางแผ่นน้ำหนักประมาณ 26,400 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการลักลอบ นำเข้ามาใน ราชอาณาจักร ซึ่งของยังไม่ได้ผ่านพิธีศุลกากร อันเป็นความผิดตามมาตรา  242,244,252,166 และ 617 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 นำยางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ค้ายางเข้าตามมาตรา 26,27 และ 52 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ปัจจุบันกรมศุลกากรดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 424,244,252,166 และ 617 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

 

  • ครั้งที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2567 ด่านศุลกากรแม่สอดได้มีการจับกุมของกลางยางพาราแผ่นน้ำหนัก 27,000 กิโลกรัม ปัจจุบันกรมศุลกากรดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา424,244,252,166 และ 617 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

 

  • ครั้งที่ 3 วันที่ 18 พฤษภาคม 2567 หน่วยตรวจพืชเฉพาะกิจราชมนู ตร.สภ.แม่สอด เจ้าหน้าที่ ด่านตรวจพืชแม่สอดและฝ่ายปกครอง อ.แม่สอด เข้าตรวจสอบรถบรรทุกพ่วง-กึ่งพ่วง จำนวน 7 คัน พบยางพารา ลักลอบ นำเข้าผิดกฎหมาย น้ำหนักประมาณ 214,338 กิโลกรัม ปัจจุบันกรมศุลกากร ดำเนินการร้องทุกข์ กล่าวโทษตามมาตรา424,244,252,166 และ 617 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560

 

จังหวัดระนอง

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรระนอง (ศวพ.ระนอง) ร่วมกับกองกำลังเทพสตรี (ฉก.ร 25) ได้ตรวจพบรถยนต์กระบะบรรทุกของไว้ท้ายรถปิดคลุมด้วยผ้าใบ ยี่ห้อโตโยต้าไฮลักซ์รีโว่สีบรอนซ์-เทา ทะเบียน บว 4158 ชุมพร ณ จุดตรวจศิลาสลัก (จปร.) ชป.ฉก.ร.25,จุดตรวจคลองจั่น จากการตรวจสอบเอกสารบัญชีแบบยาง 5 พบว่า ประวัติการดำเนินการทำบัญชีแบบยางที่ผ่านมานั้นผู้ขายบางรายมีการขายบ่อยครั้ง ซึ่งพบความผิดปกติมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีผู้สวมสิทธิ์ผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจึงดำเนินการติดต่อและโทรสอบถามตามเบอร์โทรที่ปรากฏในบัญชีแบบยาง 5 เป็นข้อมูลเบื้องต้น (ข้อมูลที่ผู้ขายให้กับร้าน) จำนวน 10 ราย ผลการตรวจสอบความผิด คือ มีการสวมสิทธิ์ผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 7 ราย น้ำหนักยางพาราแผ่นประมาณ 5,731 กิโลกรัม (อีก 3 รายมีการซื้อขายถูกต้อง) จึงดำเนินการอายัดสินค้ายางพาราดังกล่าว ปัจจุบัน ศวพ.ระนอง ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเรียบร้อยแล้ว

 

“นอกจากนี้ยังมีการตรวจตามการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้ายางพารา รวมทั้งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการยางพารา ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542  โดยตรวจปริมาณยางคงเหลือ (สต็อกยาง) ของผู้รับใบอนุญาตค้ายาง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางภายใน  ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวนี้ทำขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกัน จึงมีผลทำให้ราคายางขยับขึ้นทันที ภายใต้การทำงานเข้มข้นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ไม่ได้เกรงกลัวอิทธิพล จึงด้ส่งผลดีกับราคายางพารา ดังนั้นก็ต้องรอดูผลงานรัฐมนตรีมาใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" แหล่งข่าวในตอนท้าย