“มาดามรถถัง” กระทุ้งรัฐ เปิดทางสะดวก ดันอุตฯป้องกันประเทศไทยผงาดโลก

03 พ.ย. 2567 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2567 | 04:09 น.

“มาดามรถถัง” จี้รัฐบาลขจัดอุปสรรค ขวางทางโตอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งภาษีวัตถุดิบเหล็ก เครื่องยนต์ แวตสูง ดันต้นทุนพุง ขณะสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าภาษีเป็นศูนย์ ทำเสียเปรียบแข่งขัน ติงบีโอไอส่งเสริมไม่ตรงจุด เปิดต่างชาติลงทุนซ่อมยานพาหนะ ซ่อมอาวุธแข่งในประเทศ

นางนพรัตน์ กุลหิรัญ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “มาดามรถถัง” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ผู้ผลิต ซ่อม และส่งออกรถหุ้มเกราะสัญชาติไทยไปประจำการในยูเอ็นและอีกกว่า 46 กองทัพทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่มาก เฉพาะอย่างยิ่งด้านต้นทุนการผลิตที่เสียเปรียบต่างชาติ

นพรัตน์  กุลหิรัญ (มาดามรถถัง) ผู้ก่อตั้งบริษัท ชัยเสรีเม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด

ตัวอย่างเช่น การนำเข้ารถหุ้มเกราะทั้งคันจากต่างประเทศ ภาษีเป็น 0% (พิกัดศุลกากร (HS CODE 8710.00.00) ขณะที่การผลิตรถเกราะกันกระสุน กันระเบิด เฉพาะเหล็กอย่างเดียวต้องเสียภาษีนำเข้า 5% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 12% และต้องเสียภาษีในพิกัดอัตราปกป้องการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศในส่วนของเหล็กรีดร้อน ที่เข้ามาเมืองไทย ต้องเสียภาษีตามมาตรการนี้ 40% รวมแล้วเฉพาะเหล็กวัตถุดิบอย่างเดียวต้องเสียภาษีมากกว่า 60%

“ต่อมาคือ เครื่องยนต์และเกียร์ที่ไทยไม่ได้ทำเองต้องสั่งนำเข้ามาจากอเมริกา เป็นเครื่องยนต์พิเศษ เพราะใช้เครื่องยนต์ทั่วไปไม่ได้ ศุลกากรระบุว่าแล้วแต่ดุลยพินิจของศุลกากร ซึ่งเขาบอกว่าเครื่องยนต์แบบนี้ใช้ธรรมดาก็ได้ ใช้กับรถถังก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วมันใช้กันไม่ได้ แล้วเราต้องมีสัญญากับกองทัพเราถึงจะนำเข้าได้ ซึ่งการจะนำเข้า คนที่สั่งจากอเมริกา ทางอเมริกาเขาก็ต้องมีเอ็กซ์ปอร์ตไลเซ่นส์ และต้องได้รับการอนุญาตให้ส่งมา เพราะเป็นยุทโธปกรณ์ ส่วนประเทศไทยเราจะนำเข้า ก็ต้องมีอิมพอร์ตไลเซ่นส์ ต้องมีสัญญากับกองทัพ และกระทรวงกลาโหมต้องอนุมัติถึงจะนำเข้าได้”

“มาดามรถถัง” กระทุ้งรัฐ เปิดทางสะดวก ดันอุตฯป้องกันประเทศไทยผงาดโลก

พอมาถึงศุลกากรบอกว่าต้องเสียภาษีเครื่องยนต์ 10% ภาษีช่วงล่างหรือเกียร์ 30% รวมถึงภาษีอื่น ๆ ที่ต้องเสียภาษีนำเข้าแทบทุกรายการ ซึ่งตั้งคำถามว่าเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศหรือไม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศไม่ต้องเสียอะไรเลย แม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ก็ยังไม่เสีย ถ้าเป็นแบบนี้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยคงสู้กับต่างชาติได้ยาก ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ถือเป็นเพียงตัวอย่างปัญหา ซึ่งในข้อเท็จจริงยังมีอุปสรรคในทางปฏิบัติอีกมาก

ขณะเดียวกันแง่การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา หากเป็นด้านยุทโธปกรณ์บีโอไอจะไม่ให้การส่งเสริม ซึ่งบริษัทเคยไปขอมาหลายรอบแล้วแต่ก็ไม่ได้ แต่ปัจจุบันทางรัฐบาลโดยบีโอไอจะให้การส่งเสริม ขณะที่โครงการของบริษัทแล้วเสร็จไปหมดแล้ว จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน

“มาดามรถถัง” กระทุ้งรัฐ เปิดทางสะดวก ดันอุตฯป้องกันประเทศไทยผงาดโลก

ปัจจุบัน บีโอไอได้ให้การส่งเสริมต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเน้นไปที่การซ่อมยานพาหะ ซ่อมอาวุธ ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ซึ่งส่วนตัวมองว่า การให้การส่งเสริมการลงทุนควรที่เน้นไปที่เรื่องวิทยาการ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะเวลานี้การซ่อมยานพาหนะ หรืออาวุธก็มีหน่วยราชการ หรือหน่วยทหารดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนต้องเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนไทย ไม่ใช่เปิดให้ต่างชาติมาแข่งขันกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ

ต่อคำถามที่ว่า “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยอย่างไร?"  นางนพรัตน์  กล่าวว่า เรื่องนี้มีเยอะมาก โดยเปรียบเทียบว่า “ ถ้าเรามีเทคโนโลยีใหม่ ก็เหมือนกับเราอยู่บนยอดเขา เวลาฝนตก น้ำก็จะไหลลงมา ถ้าเราทำในประเทศน้ำก็ไหลลงมา ชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทางน้ำไหลก็จะได้ผลประโยชน์กันหมด อุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ได้ประโยชน์ วัตถุดิบก็ได้ประโยชน์ แรงงานก็ได้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ย่อมดีกว่าที่จะนำเข้า 100% และการนำเข้าที่ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย ถามว่าประโยชน์ตกกับประเทศไทยหรือไม่”

“มาดามรถถัง” กระทุ้งรัฐ เปิดทางสะดวก ดันอุตฯป้องกันประเทศไทยผงาดโลก

อย่างไรก็ดี จากที่เวลานี้รัฐบาลมองอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ที่จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมากขึ้น ในมุมมองที่อยู่ในวงการนี้มามากกว่า 40 ปี มองอย่างไร ไทยจะเป็นฮับอุตสาหกรรมด้านนี้ของภูมิภาคได้หรือไม่

นางนพรัตน์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยวันนี้ยังไปได้ไม่ไกลนัก รัฐมีแต่นโยบายสนับสนุน แต่ในทางปฎิบัติยังเป็นไปได้ยาก ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศไทยมีขีดความสามารถในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ ที่เราต้องยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่โดยเร็ว

เมื่อมีอุปสรรคจากการให้การสนันสนุนจากภาครัฐค่อนข้างมากเช่นนี้ ในส่วนของบริษัททำไมถึงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ มีจุดแข็งอย่างไร

นางนพรัตน์ ตอบว่า “ที่เรายังยืนหยัดอยู่ได้เพราะความที่เราเป็นบริษัทที่มีขบวนการไม่เยอะ  เวลาที่ลูกค้าจะคุยกับเรา พบง่ายและสะดวก เวลาที่เราจะแก้แบบ แก้อะไรสามารถทำได้ แก้ได้ทันที ไม่ต้องมีขั้นตอนมากมาย แต่ถ้าซื้อกับเมืองนอก ไปแก้อะไรของเขาได้หรือไม่ แก้ไม่ได้เลย อะไรเขาก็ตายตัว แต่เราไม่ตายตัว เพราะฉะนั้นเราจะทำตามความต้องการของลูกค้า ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของเรา”