นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ของไทยเดือนตุลาคม 2567 เท่ากับ 108.61 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.72 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.83%
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้าได้มีการปรับสูงขึ้นเนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปีนี้ ขณะที่ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 0.61% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 20 จาก 140 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 9 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว
ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.26%
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567 โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.2 – 0.8 (ค่ากลางร้อยละ 0.5) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.9 จากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 44.8 จากระดับ 43.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 58.3 จากระดับ 57.2
ขณะที่ สาเหตุของการปรับเพิ่มคาดว่ามาจากการดำเนินนโยบายที่เร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ช่วยส่งเสริมการบริโภคในประเทศ การส่งออกขยายตัวดีตามความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น การทยอยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยผ่อนคลายความกังวลด้านการเงินให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สะท้อนจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป