เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 เป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ภายใต้แนวคิด “จันทบุรี นครอัญมณี” “Chanthaburi City of Gems” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2567
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดัน และสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสู่ภูมิภาค สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการส่วนมากเป็นระดับ SME มีอยู่จำนวนประมาณ 11,990 ราย
ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วน GDP ของ SME ให้ได้ถึง 40% ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จึงมีส่วนผลักดันนโยบายอันสำคัญของรัฐบาล โดยจากข้อมูลสถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยพบว่า ตั้งแต่ช่วง มกราคม - กันยายน 2567 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของประเทศไทย
โดยสินค้าสำคัญของไทยที่เติบโตได้ดี คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ดังนั้นอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และถือเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังเป็นการผลักดันให้จันทบุรีเป็นนครอัญมณีของโลก เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ
อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ในจังหวัดจันทบุรีให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่อการขยายตลาดการค้าสู่สากล อีกทั้งเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพของช่างเจียระไนพลอยของจันทบุรีซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สามารถจัดเหลี่ยมพลอยได้สวยงาม และได้น้ำหนักตามต้องการ จึงทำให้จันทบุรีเป็นจุดหมายปลายทางของพลอยก้อนจากทั่วโลกที่จะส่งเข้ามาเจียระไนในจันทบุรีก่อนส่งกลับไป จำหน่ายยังประเทศต่างๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้ผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วประเทศ ได้มีพื้นที่ในการเจรจาธุรกิจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคู่ค้าที่มีศักยภาพและตรงตามความต้องการ และยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มอาเซียน กลุ่มเอเชียตะวันออก ได้มาพบปะกัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวอีกว่า งานเทศกาลนานาชาติและเครื่องประดับ ที่ จ.จันทบุรี จัดต่อเนื่องมาเป็นที่ 5 ที่มีทั้งความพร้อม ช่างเจียระไน นักออกแบบเครื่องประดับต่างๆในทุกด้าน ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมาก ขณะที่วัตถุดิบ พลอยก้อน หลักๆนำเข้าจากประเทศอื่นมาโดยเฉพาะแอฟริกา ซึ่งความพร้อมที่สำคัญคือวัตถุดิบ จะต้องมีในประเทศไทยและการนำเข้าจากต่างประเทศนั้นต้องสัมพันธ์กัน คือเมื่อเข้ามาแล้วแต่ขายไม่ได้ก็ต้องเสียภาษี แต่จะทำยังไงให้ที่จันทบุรี เป็นคลัง พลอยก้อน เมื่อมีการซื้อขายแล้วถึงจะค่อยเสียภาษีได้ คือสิ่งที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชน ทั้งภูมิภาคคือส่วนกลาง มีการซื้อขายมีตลาดนัดพลอย ซึ่งจะทำให้พลอยก้อนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามา ร่วมถึงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยกำกับเรื่องภาษี มีเครื่องมือในการตรวจรับรองร่วมกัน ก็จะทำให้มีความสมบูรณ์และพร้อมจะเป็นนครอัญมณี
“ทางกระทรวงฯ ตั้งเป้าให้ไทยเป็นที่รู้จัก เครื่องประดับต่างๆ ให้มาที่เมืองไทย เพราะมีความพร้อมทุกด้าน ซึ่งงานในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นพลังความพร้อม ซึ่งมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเติบโตขึ้นมา 10 % ยอดขายเครื่องประดับอัญมณี และทอง ส่งออกปีหนึ่ง ประมาณ 500,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ในยอดของการส่งออก แต่ละปียอดส่งออกของไทย ประมาณ 9,800,000 ล้านบาท อันดับ 1 คือ รถยนต์ อันดับ 2 คือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อันดับ 3 คือ อัญมณีและทอง ซึ่งถ้าเราดันยอดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่ม GDP ให้เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน GDP ก็จะตก SME ซึ่งเป็นฐานรากของคนไทยฐานรากของประเทศแข็งแกร่ง ซึ่งสิ่งสำคัญ คือส่งเสริมการส่งออกทำยังไง ให้ที่นี่เป็นที่รวมของวัตถุดิบ ให้คนรู้จักประเทศไทย ว่ามีความรู้มีความชำนาญ แล้วนำวัตถุดิบมาซื้อขายกันที่นี่ และสามารถใช้ช่างฝีมือต่างๆที่มีอยู่แล้วจัดทำเป็นเครื่องประดับ จึงขอเชิญมาเที่ยวงานเทศกาลนานาชาติและเครื่องประดับ ที่ จ.จันทบุรี ซึ่งพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงต่อเนื่องการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ”นายนายนภินทรกล่าวเสริม
ด้านนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) กล่าวว่า งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า ส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้ผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากจันทบุรีและทั่วประเทศได้มีพื้นที่ในการเจรจาธุรกิจ ซึ่งงานมีกำหนดจัด 3 จุดแหล่งผลิต – จำหน่ายอัญมณีของโลก ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยไฮไลท์ที่สำคัญ ในปีนี้คือ โซนการจัดแสดงนวัตกรรม ตู้แสงและโคมไฟ LED สำหรับจัดระดับสีอัญมณี การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับงานประกวดระดับโลก และนิทรรศการในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการในภูมิภาค Gems Treasure รวมไปถึงการนำเสนอผลงานวิจัยด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากสถาบัน และคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา และกิจกรรม Work Shop โดยสถาบันการศึกษา และการจัดแสดงกิจกรรมสาธิตการแกะแว็กด้วยมือ และการชุบ ขัดล้างเครื่องประดับฟรี โดยสมาคมช่างทองไทย
ขณะที่นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนสำคัญของการจัดงาน เพราะจะเป็นการผลักดันให้จันทบุรีเป็นนครอัญมณีของโลก อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับช่วงของการจัดงาน ยังเป็นช่วงในการจับจ่ายใช้สอยในการหาซื้อของขวัญในเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เดินทางเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากดังนั้นเชื่อมั่นว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะผู้เข้าชมจะได้เลือกซื้อสินค้ามีคุณภาพและราคาดีที่สุด
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 5-9 ธันวาคม 2567 ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี อาคารเคพีจิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และตลาดพลอยถนนศรีจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.
ติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ [www.changemsfest.org] และติดตามบนโซเชียลมีเดียที่ Facebook:@ChanGemsFest