ภายหลังความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–ออสเตรเลีย และไทย–นิวซีแลนด์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดจาก 2 ประเทศเป็น 0% โดยยกเลิกมาตรการปกป้องพิเศษ รวมถึงยกเลิกโควตาภาษี และลดภาษีเป็น 0% ภายใน 20 ปี หรือในปี 2568 ในสินค้านมและผลิตภัณฑ์เป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขันกับสินค้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ถือเป็นมหาอำนาจในสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของโลก ทำให้ต้องขอเวลาปรับตัวมานานถึง 20 ปี แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ไทยต้องลดภาษีเป็น 0% สำหรับการนำเข้านมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ล่าสุด (6 ธ.ค.67) กรมปศุสัตว์ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดสรรโควตาและอัตราภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนย นมดิบ และนมพร้อมดื่มครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน โดยได้มีการพิจารณาเรื่องการนำเข้าสินค้านมในปี 2568 ตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และการเปิดเสรีสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนยตามความตกลงการค้าเสรีไทย- ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ในปีแรกที่จะมีการเปิดเสรี
นายสมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) TAFTA และ TNZCEP จำเป็นต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีผลกระทบกับไทย สามารถกำหนดโควตาและอัตราภาษีในโควตาและนอกโควตาได้ สำหรับนมผงขาดมันเนยเป็นสินค้าหนึ่งที่อยู่ในข้อผูกพันต้องเปิดตลาดนำเข้าต่อปี ตามข้อตกลง WTO ไม่น้อยกว่า 55,000 ตัน และใน TAFTA ไม่น้อยกว่า 2,574 ตัน รวมทั้งสิ้น 57,574 ตัน โดยคิดอัตราภาษี ในโควตาร้อยละ 20 (เก็บจริง ร้อยละ 5) และอัตราภาษีนอกโควตา WTO ร้อยละ 216 และ ใน TAFTA ร้อยละ 194.4 ส่วนนมและครีม ต้องเปิดตลาดตามข้อตกลง WTO ไม่น้อยกว่า ปริมาณ 2,372.74 ตัน โดยคิดอัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 20 และภาษีนอกโควตา ร้อยละ 41 และตามความตกลง TAFTA/ TNZCEP ในทั้ง 2 กรอบจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
“เมื่อพิจารณาคำขอนำเข้านมผงของบริษัทและสหกรณ์ ในเวลานี้มีจำนวน 90 ราย พบว่า มี บมจ. ฟรีสแลนด์คัมพิน่าฯ นำเข้าสูงสุด 1.6 หมื่นตัน รองลงมา บจก. ซีพี-เมจิ 1.4 หมื่นตัน และ บจก. เอฟแอนด์เอ็น แดรีส์ฯ ขอนำเข้า 1.2 หมื่นตัน ตามลำดับ แบ่งเป็นตามข้อตกลง WTO ปริมาณ 41,104 ตัน, ตามข้อตกลง AFTA 17,859 ตัน และตามข้อตกลง TNZCEP 32,987 ตัน รวมทั้งหมด 91,951 ตัน”
ทั้งนี้ เมื่อคิดเป็นนมผงคืนรูปจะเทียบเท่านํ้านมดิบ คิดเป็น 2,015 ตัน/วัน (ราคาเฉลี่ย 14-18 บาท/กิโลกรัม) และที่สำคัญเกินความต้องการบริโภคนมในประเทศ ที่บริโภคทั้งนมพาณิชย์และนมโรงเรียน ประมาณวันละ 1,500-1,700 ตัน/วัน ปัญหาที่จะตามมาคือ นํ้านมดิบในประเทศจะไปขายที่ไหน หากเป็นเช่นนี้อาชีพโคนมในประเทศไทยคงล่มสลายในที่สุด
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า เกษตรกรไทยรีดนม จากแม่โคนมได้ประมาณวันละ 2,500-2,800 ตัน/วัน โดยนํ้านมดิบมีอายุ 24 ชั่วโมง ดังนั้นโดยกลไกจะถูกกดดันด้านราคาจากคุณภาพได้ง่าย ทั้งนี้นมดิบที่สารอาหาร โปรตีนสูง ต้องเก็บในถังอุณหภูมิที่รักษาความเย็นไม่น้อยกว่า 4 องศา ต้นทุนเก็บรักษาสูง ต้องบริหารจัดการจำหน่ายล่วงหน้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ต้องทำตลาดล่วงหน้า โดยมีต้นทุนนํ้านมดิบ 21.25- 23 บาท/กิโลกรัม ยังไม่รวมต้นทุนค่าใช้จ่ายของศูนย์รวบรวมนํ้านมดิบของเกษตรกรและค่าขนส่ง เมื่อไปเปรียบเทียบกับนมผง ผู้ประกอบการจะประหยัดต้นทุนมากกว่า 30% สามารถเก็บสต๊อกได้ในอากาศธรรมดา นานกว่า 3-6 เดือน โดยจะใช้เมื่อไรค่อยนำมาผสม
“จากผลกระทบดังกล่าวทางชุมนุมฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อขอหารือกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ทบทวนความตกลง หรือช่วยหาทางออกให้เกษตรกร ขณะนี้กำลังรออยู่ว่าจะรับนัดวันไหน”
สอดคล้องกับนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสภาเกษตรกรไม่ได้นิ่งนอนใจ จะช่วยประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทบทวน โดยไม่ขัดกับหลักการของ WTO ซึ่งจะเร่งหารือต่อไป
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,052 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567