สภาอุตฯ จี้ตั้ง กรอ.พลังงาน ปฏิรูปราชการ-กม.ล้าสมัย ตรวจ 100% สินค้านำเข้า

05 ม.ค. 2568 | 21:44 น.

ผลสำรวจผู้ประกอบการ 1,369 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ล่าสุด ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในหลายเรื่อง

ทั้งความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐ (ยุคทรัมป์ 2.0) ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าที่เพิ่มต้นทุน และความไม่แน่นอนของโลกจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลให้ราคาพลังงานปี 2568 มีความผันผวน กระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องต้นทุนการผลิตสูงที่เกิดจากราคาพลังงาน ทั้งนํ้ามัน และค่าไฟฟ้ายังเป็นหนึ่งในภาระ และต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้ประกาศค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 2568) ลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย จากงวดก่อน (ก.ย.-ธ.ค. 2567) อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงเพียง 3 สตางค์ต่อหน่วย ไม่ต่างจากอัตราเดิมมากนัก

จี้ตั้ง กรอ.พลังงาน ปฎิรูปราชการ

“มีคำถามว่า แล้วทำไมค่าไฟฟ้าของประเทศอื่นเขาถูกกว่าไทย เช่น 2.70 บาทต่อหน่วย (เวียดนาม) และตอนนี้ราคานํ้ามันทั่วโลกก็ลดลงแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนได้เรียกร้องมาโดยตลอดคือ ขอให้ภาครัฐเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านพลังงาน หรือ กรอ.พลังงาน เพื่อให้ภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.ที่มีสมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ และมีส่วนได้เสียจากค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามัน และพลังงานอื่น ๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างด้านพลังงานของไทย เพื่อให้ประเทศแข่งขันได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐ เร่งกิโยตินหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่กว่าแสนฉบับ ที่มีความล้าสมัย สร้างต้นทุนแฝงทางธุรกิจ เพื่อให้การทำธุรกิจของคนไทย และต่างชาติที่มาลงทุน หรือจะมาลงทุน มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ลดขั้นตอนต่างๆ ทำให้มีต้นทุนที่ลดลง รวมถึงอยากให้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง หรือปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง เพื่อลดความซํ้าซ้อนการทำงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และจะทำให้มีงบประมาณเหลือนำมาพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

ยกทรัมป์ 2.0 ลดรายจ่ายรัฐบาล

นายเกรียงไกร ได้ยกตัวอย่างรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ (ทรัมป์ 2.0) ที่จะเข้ามาบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (20 ม.ค. 2568) โดยได้ประกาศจะแต่งตั้งอีลอน มัสก์ (ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์และซีอีโอของบริษัทเทสลา) และวิเวก รามาสวามี (นักธุรกิจด้านชีวะเทคโนโลยี) เข้ามากำกับดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบราชการของสหรัฐให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าหมายจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลงอย่างน้อย 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

“เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยทุกวันนี้ งบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีก็มีไม่มาก หากมีการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการให้มีความทันสมัย ลดความซํ้าซ้อนการทำงาน จากงบส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนข้าราชการประจำ หากเราทำได้จริง เหมือนรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ที่กำลังจะลดงบประมาณได้มหาศาล จะทำให้รัฐบาลไทยมีเงินเหลือมาพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้ภาคเอกชนทั้งคนไทย และต่างชาติรู้สึกมีความเชื่อมั่นในระบบ จากการลดความซํ้าซ้อน ลดต้นทุนแฝงต่าง ๆ ทำให้ได้ประโยชน์ถึงสองเด้ง”

สแกน 100% สินค้าสำแดงเท็จ

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 60-100% ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าจีนไหลบ่า หรือทะลักเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมก็เข้ามามากอยู่แล้ว จะกระทบกับผู้ประกอบการของไทยหนักมากขึ้น

ดังนั้นหน่วยงานที่เฝ้าติดตาม หรือกำกับดูแลการนำเข้าที่เป็นประตูด่านแรก เช่น ด่านศุลกากร ทั้งด่านขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศจะต้องทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลตรวจสอบอย่างเข้มงวดแบบ 100% เหมือนในประเทศอื่นที่มีมาตรการป้องกันที่ดี เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า ในลักษณะเหมาตู้ และมีการสำแดงเท็จที่ปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เอดียุคใหม่รัฐต้องทันสถานการณ์

ส่วนหน่วยงานที่ดูแลและใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาด (AC) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ (SG) จากต่างประเทศ คือกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ต้องใช้มาตรการตอบโต้ที่ทันกับสถานการณ์ และรู้เท่าทันผู้ค้าหรือผู้นำเข้าในการหลบเลี่ยงต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องผ่านระบบดิจิทัลหรือคอมพิวเตอร์ และมีการประมวลผลที่ดี และมีความแม่นยำ

“ที่ผ่านมาการใช้มาตรการเหล่านี้ภาคเอกชนต้องเป็นคนเฝ้าระวังและติดตาม ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความเพื่อไปหาหลักฐานในประเทศต้นทางของสินค้ามาให้หน่วยงานรัฐเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเปิดไต่สวน ซึ่งกว่าจะถึงขั้นใช้มาตรการตอบโต้ ใช้เวลาเป็นปีสองปี ไม่ทันกับความเสียหายที่เกิดขึ้น บางรายที่ได้รับกระทบและทนไม่ไหวก็ล้มหายตายจากไป

จากนี้ภาครัฐควรปรับวิธีการทำงานเชิงรุก โดยประสานการทำงานและข้อมูลของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์กับกรมศุลกากรในการเฝ้าระวังและใช้มาตรการตอบโต้อย่างทันสถานการณ์ ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่ต้องเป็นคนต้องคอยเฝ้าระวังและต้องไปหาหลักฐานมายืนยันเหมือนที่ผ่านมา”