ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ รักษาสมดุล ‘กฎระเบียบ สังคม และพาณิชย์’

03 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 03:10 น.

ระยะเวลา 8 เดือน กับการลุยงานหนัก ในหน้าที่ ผู้อำนวยการใหญ่ แม่ทัพคนใหม่ล่าสุดของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ของ "ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ"

 แม้จะมีประสบการณ์ เป็นลูกหม้อเก่าที่เคยทำหน้าที่เป็น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ที่องค์กรแห่งนี้มาแล้ว แต่งานด้านบริหารจัดการในฐานะแม่ทัพใหญ่ ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่แม่ทัพท่านนี้ต้องเรียนรู้ และต้องปฏิบัติ
 

ยิ่งกับองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ แบบ ทอท. นอกเหนือจากกฎระเบียบของภาครัฐ ก็ยังมีกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามากำกับดูแล และด้วยธุรกิจบริการที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมระดับโลก (Global industries) ยังมีกฎระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) เข้ามากำกับดูแลเพิ่มเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น การนำพาองค์กรให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า จึงต้องอาศัยการรักษาสมดุลทั้งกฎระเบียบ การให้บริการสังคม และเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ และนี่คือความท้าทายที่ซีอีโอท่านนี้ต้องเผชิญ
 


หลายคนมองว่า ทอท. เป็นเสือนอนกิน...แต่ผู้นำท่านนี้ไม่ได้มองแบบนั้น เพราะทุกเส้นทางรายได้ และเม็ดเงินที่เข้ามาใน ทอท. มีกฎระเบียบของทั้ง 3 หน่วยงานใหญ่ควบคุมอยู่ การสร้างรายได้จะเกิดขึ้นจากส่วนไหน รายได้ที่เข้ามาจะนำไปใช้ในส่วนใดได้บ้าง มีบทบังคับไว้ทั้งหมด
 

"มันกลายเป็นเรื่องตลกมาก เรามีหลุมจอดไม่เพียงพอ จะทำหลุมจอดเพิ่ม 10 กว่าหลุม ใช้งบ 300 กว่าล้าน ในขณะที่ ทอท. มีเงินสดอยู่ 5 หมื่นกว่าล้าน แต่เราทำหลุมจอดด้วยเงิน 300 ล้านไม่ได้ เพราะด้วยกฎระเบียบ ทอท. ต้องใช้งบปี 60...มันเป็นความอุ้ยอ้ายของ ทอท. และที่สำคัญเงิน 5 หมื่น ล้านนั้นก็เอามาใช้ไม่ได้ เพราะตามกฎระเบียบต้องเก็บไว้เพื่อพัฒนาสนามบิน"

วิธีการแก้ไขของผู้นำท่านนี้ คือ การระดมสมองของทีมผู้บริหาร พร้อมทั้งนำเรื่อง ไฟแนนเชียล อินโนเวชั่น หรือเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เข้ามาช่วย จนขณะนี้ได้มา 3 ทางเลือก คือ การทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อถึงเวลาที่ ทอท.ตั้งงบได้ ก็สามารถซื้อคืนหลุมจอดได้ ทางเลือกที่ 2 คือ ให้สายการบินลงทุน แล้วหักค่าเช่าไป และทางเลือกที่ 3 คือ ให้ผู้ประกอบการลงทุน แล้วไปเก็บค่าเช่ากับสายการบิน...แต่ละทางเลือกก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน นั่นคือสิ่งที่ทีมผู้บริหารต้องมาทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์กันอีกครั้ง



สิ่งที่ "ดร.นิตินัย" มองเห็น คือ ขณะนี้ธุรกิจการบินแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ การเดินทางในลักษณะของการท่องเที่ยว และการเดินทางที่เป็นการเดินทางจริงๆ หรือสายการบินต้นทุนต่ำ Low-cost airline กับสายการบินแบบ Full Service...สำหรับสนามบินดอนเมือง มีไว้เพื่อรองรับการเดินทางเป็นหลัก ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ มีไว้เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา การเดินทางที่ดอนเมืองเติบโตเกือบ 50% ขณะที่สุวรรณภูมิปีที่แล้วเติบโต 11-12% ใกล้เคียงกับการเดินทางของโกลที่เติบโต 9-10% และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประเทศไทยจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีกมาก...จากข้อมูลเหล่านี้ นักเรียนทุนเศรษฐศาสตร์ ของกระทรวงการคลังคนนี้ มองว่า การพัฒนาขยายการก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกเฟสที่ 2 จะต้องทำให้รองรับทั้งในแง่ของการเดินทาง ความสะดวกสบายปลอดภัย และขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย เพราะในส่วนของพาณิชย์นี่แหละ ที่จะทำให้ ทอท.สามารถเติบโตเป็นเสือนอนกินได้จริงๆ
 

"ผมทำงานเป็นทีม ผมไม่เชื่อ ใครจะคิดคนเดียวได้ ก็ช่วยๆ กัน ตอนนี้ผมมาเรียนรู้โอปอเรชันเยอะ ผมไม่เชื่อว่าใครนั่งทำงานแล้วสามารถบรรลุธรรมได้ ผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยกันแนะนำ ทำ Bottom-up ทีมงานเราดี ..แต่ผมหนักใจคือ ปี 60-61 เกษียณกันหมด แล้วเจนวาย เจนแซด มันจะขึ้นมาทันอย่างไร"
 

นอกจากเรื่องของการบริหารจัดการให้ธุรกิจเดินหน้า ส่วนขององค์กร ก็ต้องมีการพัฒนาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร เพราะคนภายในองค์กรอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าใจว่า ทอท.ทำอะไร หรือเงินสดที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำไมจึงนำมาให้โบนัสพนักงานเยอะๆ ไม่ได้...คน ทอท. ยังไม่เข้าใจเลย เรามีเงิน 5 หมื่นล้าน แต่ไม่มีโบนัส คนนอกก็ไม่เข้าใจ บอกว่าผมขึ้นเครื่องบินฟรีหรือเปล่า ผมไมได้ทำแอร์ไลน์นะ ผมทำหลุมจอด ...ผมคิดว่าเราต้องรีเอ็นจิเนียร์ เรื่องของระบบพีอาร์ คนนอกก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าผมทำอะไร คนในก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเรารวยอยู่ แล้วถ้ารถไฟความเร็วสูงมา เราจะเอาอะไรกิน
 

ก้าวที่กำลังเดินต่อไปของ "ดร.นิตินัย" คือ การพัฒนางานด้านประชาสัมพันธ์และการดูแลสังคมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ "คณะทำงานบูรณาการสื่อ" ขึ้นมาทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ทดลองทำก่อน 6 เดือน กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มนโยบาย กลุ่มที่ 2 "คอนเทนต์ แมเนเจอร์" จะเปิดประมูลเร็วๆ นี้ และกลุ่มสุดท้าย คือ "มีเดียแพลนเนอร์" ที่จะมีหน้าที่เข้ามาดูว่า คอนเทนต์แบบนี้ ควรใช้สื่อแบบไหน การพีอาร์ ต้องตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และตรงนี้ต้องวัดผลด้วย ว่าสิ่งที่ส่งออกไปตรงกลุ่มหรือไม่ตรงกลุ่ม ทั้งหมดนี่คือ อินฟราสตรักเจอร์ ตอนนี้เรากำลังวางจะเสร็จแล้ว เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2559 จะเสร็จเรียบร้อย
 

เป้าหมายของผู้นำคนนี้ ในปีหน้าพนักงาน ทอท. จะต้องเข้าใจว่า ทอท. ทำอะไรอยู่ ค่านิยมขององค์กรต้องชัดเจน หลังจากนั้น การขับเคลื่อนขององค์กรในส่วนของมาร์เก็ตติ้ง เรื่องของกฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องทุกอย่างต้องชัดเจน เพื่อให้งานทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ระบบการทำงานต่างๆ ต้องมีแผนงานชัด ไม่ว่าจะเป็นการขยายสนามบิน หรือพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่ต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ...สิ่งเหล่านี้ ต้องเซตไว้ให้หมด คนที่มาสานต่อก็จะเดินหน้าได้เลย



นั่นคือเกร็ดการบริหารเล็กๆ น้อยๆ ของ "ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ" กับการทำงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ภายใต้กฎระเบียบมากมาย การทำงานทุกอย่างจะไหลรื่นไปได้ ก็ต้องวางแผนงาน จัดระบบการทำงานให้เข้าที่เข้าทาง และต้องใช้นวัตกรรมความคิด หรือเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาช่วย ธุรกิจจึงจะเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559