ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน จนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ารูปใหม่ออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ
เขาบอกว่า เขาคือ คนหนึ่งที่เคย "ได้รับโอกาส" ดังนั้นเขาจึงพร้อมที่จะ "ให้โอกาส" และหล่อหลอมคนที่เขาให้โอกาสให้พัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพขึ้นเรื่อยๆ
"เจมส์" บอกว่า ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาและยังไม่ทันเรียนจบ เขามีโอกาสเข้าทำงานที่บริษัทวิศวกรรม โรทอร์กฯ (Rotork) และได้ออกแบบผลงานชิ้นแรก ซี ทรัค (Sea Truck) ซึ่งเป็นเรือท้องแบนความเร็วสูง โดยได้ทำงานร่วมกับ เจเรมี่ ฟราย และได้นำการออกแบบตามสไตล์ เอดิโซเนียน (Edisonian) ซึ่งเป็นการสร้างเครื่องต้นแบบและลองผิดลองถูกจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์อย่างแท้จริง
นักบริหารท่านนี้ ค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบการออกแบบมากกว่าการเรียนศิลปะทั่วไป "เจมส์" จึงเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัย เดอะ รอยัล คอลเลจ ออฟ อาร์ท โดยเปลี่ยนจากสาขาวิชาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไปสู่การเรียนออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อจะได้มีโอกาสลองออกแบบผลิตภัณฑ์จากเหล็กและพลาสติก ซึ่งที่นี่เอง เขาได้ค้นพบความหลงใหลในการออกแบบเชิง ฟังก์ชันนัล ดีไซน์ ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
การเริ่มต้นสร้างธุรกิจ หรือทำให้คนยอมรับในไอเดียแปลกใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ตัวเขาเอง ที่ค้นคิดออกแบบเครื่องดูดฝุ่นที่มีประสิทธิภาพการทำงานอย่างแท้จริง หลายบริษัทให้ความสนใจ แต่ไม่มีบริษัทไหนเซ็นสัญญา เนื่องจากเทคโนโลยีที่ "เจมส์" คิดค้น ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับผลิตภัณฑ์เครื่องดูดฝุ่นของบริษัทที่มีถุงเก็บฝุ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ปี 1980 "เจมส์" เป็นหนี้มหาศาล แต่ยังคงมุ่งมั่นหาบริษัทที่พร้อมเซ็นสัญญา ในที่สุด ก็ได้รับการติดต่อและเซ็นสัญญากับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นชื่อ เอเป็กซ์ อิงค์ (Apex Inc) หลังการบินข้ามทวีปและการประชุมข้ามคืนอีกหลายคืน และเริ่มผลิต จี-ฟอร์ซ (G-Force) ในปี 1986 และเริ่มก่อตั้งบริษัทไดสันฯ เมื่อปี 1993 นับเป็นเวลา 23 ปีมาแล้ว
ความลำบากในช่วงเริ่มต้น และความเข้าใจในความคิดสร้างสรรค์ เมื่อเปิดบริษัทของตัวเอง "เจมส์" จึงให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ และพยายามดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมการทำงาน สวัสดิการ ไปจนถึงเรื่องของความรู้สึก จิตใจ เขาพยายามหาโอกาสพูดคุยกับพนักงานทุกคน คอยถามไถ่เรื่องการทำงาน รวมไปถึงความเป็นอยู่ และสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากคือ จะไม่ใช้คำว่า "นโยบายของบริษัท" เป็นกฎให้พนักงานปฏิบัติตาม เพราะไม่อยากให้พนักงาน "ต้องทำ" ในสิ่งที่ระบุ แต่อยากให้พนักงาน "เป็น" ตามหลักปรัชญาธุรกิจของไดสัน เป็นด้วยความสมัครใจและจิตวิญญาณ
"เมื่อไดสันวางจำหน่ายเครื่องดูดฝุ่นรุ่น DCO1 เพียงแค่ 18 เดือน ก็กลายเป็นเครื่องดูดฝุ่นที่ขายดีที่สุดในอังกฤษ แต่ปัจจุบันความท้าทายใหม่ของเรา มาพร้อมกับความทะเยอทะยานในสิ่งที่ดียิ่งขึ้น นั่นก็คือการพยายามเฟ้นหาทีมงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆไปกับเรา"
เขาผลักดันพนักงานให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ แบบไม่จำเป็นต้องเกิดมาเป็นอัจฉริยะ "หลักการทำงานที่ดี คือ การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด" แต่ในเมื่อไม่ใช่ทุกคนที่จะมีมันสมองอันปราดเปรื่อง สิ่งที่ "ไดสัน" แนะนำคือ "จงคิดต่าง" เรื่องบางเรื่องที่เห็นต่างออกไป อาจจะดูไม่เป็นเรื่องที่ฉลาดก็ได้ แต่มันมีความน่าสนใจ คนทั่วไปพยายามที่จะคิดอย่างคนฉลาด แต่ในเมื่อมีคนที่คิดต่างออกไป สิ่งนั้นจึงโดดเด่นขึ้นมา ถึงแม้ตอนแรกสิ่งที่คิด อาจจะโดนหัวเราะเยาะ
ปรัชญาในการทำธุรกิจ ของ "เจมส์" คือ "ต้องลงมือทำ" ตัวเลขรายได้ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ เขาบอกว่า เขาลงทุนสูงกับสถานที่ทำงาน ให้ความสำคัญกับ "เก้าอี้" ไดสันลงทุนซื้อเก้าอี้ราคาสูงให้กับพนักงานทุกคน เพื่อให้ทุกคนนั่งทำงานได้อย่างสบาย ดีต่อสรีระ และสุขภาพ พื้นที่ในสำนักงานได้รับการออกแบบให้เปิดโล่ง เอื้อต่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของทีม โดยพนักงานออกแบบกราฟิกและวิศวกรจะมีพื้นที่ทำงานอยู่ตรงศูนย์กลางของทุกส่วน เนื่องจากจุดเริ่มของการปฏิบัติงานทั้งหมดจะออกมาจากส่วนนี้ และแต่ละแผนกจะไม่มีการกั้นโซน หรือแบ่งแยกด้วยการออกแบบ สภาพแวดล้อมที่ทำงานในลักษณะนี้ จะช่วยให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีไอเดียสดใหม่อยู่เสมอ
การทำงานโดยให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นสิ่งที่ซีอีโอท่านนี้ทำต่อเนื่อง เขาเลิกใช้ระบบกระดาษ memo ในการติดต่อสื่อสาร เพราะคนที่ได้รับ memo จะอ่านหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือ อาจจะอ่านแล้วเข้าใจคลาดเคลื่อน การติดต่อสื่อสารที่ดีที่สุด คือ คุยกันต่อหน้า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ไม่มีใครใส่สูต ผูกเนกไท แต่ก็คำนึงถึงความสุภาพเรียบร้อยของเครื่องแต่งกาย
"ไดสัน" มีความเห็นที่แตกต่างจากพื้นฐานแนวคิด เขาไม่ต้องการให้พนักงานมีแนวคิดแบบนักธุรกิจ จึงหลีกเลี่ยงการแต่งตัวแบบนักธุรกิจ เพราะเมื่อเริ่มมีแนวคิดแบบนักธุรกิจ ก็มุ่งหวังแต่จะทำกำไร ซึ่งไดสันเน้นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีประโยชน์มากกว่า ไดสันไม่ตัดสินคนจากแค่ภาพลักษณ์ภายนอก และที่สำคัญสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดนอกกรอบ เขาส่งเสริมให้พนักงานลองตัดหลักเหตุผลออกไปบ้าง และใช้ความรู้สึกนำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสิ่งแปลกใหม่...เราย้ำเสมอว่า ไม่ต้องการให้พนักงานคิดเหมือนนักธุรกิจ แต่ให้คิดว่าลูกค้าคือเพื่อนที่ดี เพราะฉะนั้น เราจึงสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับเพื่อน
เป้าหมายต่อไปของ "เจมส์ ไดสัน" คือ การขยายตลาดเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชีย เขาพยายามเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียให้มากที่สุด และพยายามลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการให้มากที่สุด
... นั่นคือสิ่งที่เราทำในอังกฤษ และเราก็คิดว่ามันจะได้ผลที่ดีเช่นเดียวกันสำหรับเอเชีย...
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559