กะเทาะมุมคิด ‘พราว’  ดีเวลลอปเปอร์พันธุ์ใหม่

14 ม.ค. 2566 | 02:20 น.

ดีเวลลอปเปอร์รายเล็ก “บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PROUD” เปิดตัวเป็นรูปเป็นร่าง ในช่วงสงครามโควิด-19 กำลังเริ่มโจมตีโลกมนุษย์พอดิบพอดี ในปี 2562 จนในวันที่ชาวโลกอยู่ร่วมกับโควิดได้แล้ว

PROUD ก็พร้อมผงาดและเดินหน้าอย่างสง่า ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรี


“เล็ก แต่แกร่ง” น่าจะใช้ได้กับ PROUD ด้วยทีมบริหารคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสร้างความต่าง ด้วยผลงานที่คนในวงการต้องว้าวเลยทีเดียว
  พสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

PROUD เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มตระกูล “ลิปตพัลลภ” ที่เริ่มต้นจาก “พสุ-พราวพุธ ลิปตพัลลภ”สองพี่น้องทายาทของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เข้าไปเทคโอเวอร์ ด้วยวิธีการ Backdoor Listing บริษัท โฟคัส ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ FOCUS ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)  เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 และจากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ระบุทั้ง “พสุ-พราวพุธ ลิปตพัลลภ” ทั้งสองเป็นถือหุ้นใหญ่ถือหุ้นรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 70.48% จากทุนจดทะเบียน 673,148,951.00 บาท (ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว:641,468,952.00 บาท) และนั่งบริหารงานในตำแหน่ง กรรมการ และกรรมการบริหารบริษัทฯ

พสุ ลิปตพัลลภ” แปลงภาพของธุรกิจครอบครัว ด้วยการแยก PROUD ออกชัดเจน พร้อมดึงมืออาชีพ 

“ภูมิพัฒน์ สินาเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROUD

“ภูมิพัฒน์ สินาเจริญ” อดีตผู้บริหารจากบมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP มานั่งทำหน้าที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PROUD ใช้วิธีแบบสตาร์ทอัพ เล็กแต่แซ่บ…ด้วยทีมงานเพียง 50 คน กับ Multi Skills ที่หนึ่งคนมีความสามารถทำงานได้หลากหลาย ต่างจากองค์กรอสังหาฯ ใหญ่ๆ ทั่วไป


“พสุ” และ “ภูมิพัฒน์” ร่วมแชร์ไอเดียให้ฟังว่า PROUD ได้นำความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงแรมของครอบครัว พร้อมนำกลยุทธ์การพัฒนาโครงการออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด More Than Just Living ซึ่งประกอบด้วย 
3 เสาหลัก เข้ามาประกบ หลอมรวมเป็น DNA ในการสร้าง PROUD ให้แตกต่างจากอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ  

3 เสาหลักที่ว่า ประกอบด้วย

  1. Harmonious Living การศึกษาพื้นที่และวิถีชีวิต เพื่อที่จะนำมาออกแบบโครงการต่างๆ ในสไตล์บริษัท
  2. Sense Of Hospitality การดูแลเอาใจใส่ในการบริการ รวมถึงการดูแลที่มากกว่าแค่เรื่องบ้าน เช่น การดึงเชนโรงแรมระดับโลกอินเตอร์คอนติเนนตัลมาร่วมบริหาร ที่โครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เรสซิเดนเซส หัวหิน 
  3. Value Of Home Being การออกแบบพื้นที่และฟังก์ชั่นเพื่อการอยู่อาศัยที่ดีที่สุด ผ่านการค้นคว้าของบริษัท และการผนึกกับพันธมิตร อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาล บีเอ็นเอช (BNH) ยกระดับการดูแลทางการแพทย์-สุขภาพให้ผู้อยู่อาศัย


“ทั้งหมดนี่คือ DNA ของการพัฒนาของเรา ไม่ใช่แค่โปรดักต์แต่หมายถึงเซอร์วิสที่เรามีให้ด้วย”...พสุย้ำ “โจทย์มันก็ยาก เพราะทุกคนก็พยายามทำอย่างนี้อยู่ แต่เรามีประสบการณ์ด้านโรงแรมมามากกว่า ผู้บริหารเราและแชร์โฮลเดอร์ของเรา ทำงานทางฝั่งโรงแรมมาก่อน เพราะฉะนั้นเรารู้เรื่องนี้ดี แต่ถ้าถามว่า เราทำได้ดีกว่าคนอื่นไหม ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ เราไม่เหมือนคนอื่น”


 อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบริหารในยุคนี้คือ การบริหารความเสี่ยง เนื่องจากมีปัจจัยรอบด้านที่เหนือการควบคุม “ภูมิพัฒน์” ลงรายละเอียดว่า

 

ความเสี่ยงแรก คือ เรื่องการเงินที่ต้องระวัง หลักการของ PROUD ทุกโปรเจ็กต์คือ จะมีไฟแนนซ์พาร์ทเนอร์ และมีแหล่งเงินนักลงทุนที่พร้อมซัพพอร์ต

ความเสี่ยงที่สอง คือ เรื่องของโปรดักต์ต้องบาลานซ์ระหว่างโครงการในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โครงการแนวสูง แนวราบ เพราะระยะเวลาในการรับรู้รายได้ต่างกัน 
 

ความเสี่ยงอีกส่วนที่สำคัญคือ เรื่องของคน โครงสร้างขององค์กร PROUD ต้อง LEAN ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้โอเว่อร์ มีการทำงานแบบ Agile พร้อมปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ มีการเซ็ทอัพทีมงานที่มี
หลากหลายทักษะ (Multi Skills)


“คนที่มาจากองค์ใหญ่ ส่วนใหญ่ถนัดด้านเดียว เซลคนหนึ่ง เขาทำแนวสูงก้อสูงอย่างเดียว แต่เราต้องการสกิลที่ทำได้ยาวๆ ทำได้ทั้งแนวราบ และแนวสูง ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ...มันเป็นโจทย์ยาก แต่เราทำแล้วดูง่าย เพราะบริษัทเรายังไม่ได้ใหญ่มาก”


 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา PROUD อยู่ในช่วงของการก่อสร้าง จนขณะนี้มีโปรเจ็กต์ในมือ 4 โครงการ ที่ทยอยรับรู้รายได้มาตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2565 และ จะมีโครงการที่ทยอยเสร็จและรับรู้รายได้ต่อเนื่อง


สองผู้บริหาร PROUD บอกว่า องค์กร PROUD ยังไม่พยายามโตแบบก้าวกระโดด แต่จะเดินหน้าธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ศึกษาตลาด บาลานซ์การทำโปรเจ็กต์ให้เหมาะสม...ถ้าเราเล็งตลาดดีๆ เลือกซื้อที่ เราก็ยังทำได้ เรายังหาอะไรของเราทำไปได้เรื่อยๆ ในขณะที่ตลาดรวมยังไม่ชัวร์ว่าจะดีมากหรือดีน้อย...ถือเป็นการบาลานซ์ความเสี่ยงที่พร้อมทำกำไร แบบไม่ต้องเจ็บตัวของ PROUD 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12 - 14 มกราคม พ.ศ. 2566