ผ่าแผน นิวเจน BAFS ซ่อม สร้าง บาลานซ์พอร์ต ลดความเสี่ยงธุรกิจ

29 เม.ย. 2566 | 03:29 น.

ภายใต้การนำของนิวเจนเนอเรชั่น เร่งบาลานซ์พอร์ตธุรกิจ ลดความเสี่ยง หลังเริ่มเฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด -19 ที่ส่งผลรายได้บริษัทหล่นฮวบ หนักสุดในรอบ 40 ปี พร้อมขยายการลงทุนธุรกิจรถยนต์ EV หันหาธุรกิจใหม่เสริมความแข็งแกร่งพอร์ตรายได้ 

ในยุคของเจนเนอเรชั่นใหม่ “หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) เจนล่าสุด ที่เข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ของ BAFS เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ซีอีโอท่านนี้ถือเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนที่ 3 ของ BAFS ซึ่งเขาเข้ามารับช่วงในยุคที่กำลังเกิดวิกฤตใหญ่กับองค์กรพอดี

ผ่าแผน นิวเจน BAFS ซ่อม สร้าง บาลานซ์พอร์ต ลดความเสี่ยงธุรกิจ
จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 BAFS ซึ่งเป็นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบิน ที่ก่อตั้งมาในปี 2526 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องประสบกับวิกฤตครั้งใหญ่ เกือบทั่วโลกมีปัญหาต้องล็อคดาวน์ ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปมาได้อย่างปกติ ทำให้ BAFS ประสบปัญหาด้านรายได้อย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี นับจากก่อตั้งบริษ้ทมา 

ความท้าทายอย่างหนักของผู้บริหารสูงสุด คือ การนำพาองค์กรและทีมงานให้เดินหน้าต่อ ซึ่ง “หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์” เลือกที่ใช้วิธีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอุตสาหกรรม จากเดิมที่ BAFS มีโครงสร้างรายได้ 93% มาจากธุรกิจหลัก (Core Business) ที่เหลือเป็น Non-Core 7% แต่ในปี 2562 ธุรกิจหลักลดลงเหลือ 80% เป็น Non-Core 20% ส่วนเป้าหมายระยะยาว และในปี 2568 - 2578 ธุรกิจในกลุ่ม BAFS จะปรับเปลี่ยนใหม่ แบ่งเป็นธุรกิจคาร์บอน และ นอล-คาร์บอน อย่างละ 50% โดยธุรกิจ นอล-คาร์บอนเช่น ธุรกิจประกอบรถของ บาฟส์คลีน และธุรกิจใหม่ 


พร้อมกันนี้ ยังมองหาธุรกิจและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยเป้าหมายในอนาคต คือ การสร้างพอร์ตรายได้ใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ร่วมกับบริษัททั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ Business Service ที่ทำโรงงานประกอบรถยนต์ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเติมน้ำมันอากาศยานเอง โดยร่วมกับพันธมิตรจากสเปน 

“หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์” เล่าว่า BAFS ยังมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เนปาล อินเดีย มองโกเลีย เพื่อสร้างโครงสร้างรายได้ที่สมดุลย์ โดยที่มีโครงสร้างจากธุรกิจหลัก 50% ธุรกิจ Utilities & Power 40%  และ Business Service 10%”

ผ่าแผน นิวเจน BAFS ซ่อม สร้าง บาลานซ์พอร์ต ลดความเสี่ยงธุรกิจ
ปัจจุบัน BAFS GROUP มี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. Aviation  Business 2. Utilities & Power Business (ขนส่งพลังงานทางท่อและพลังงานหมุนเวียน และ 3. Business Service โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการ Outsource พนักงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลโซลูชั่นและนวัตกรรม 


ส่วนบริษัทในเครือมีทั้งหมด 7 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท ทาร์โก้ เป็นบริษัทที่วางท่อส่งน้ำมันใต้สนามบิน 2.บริษัท ไอพีเอส เป็นบริษัทร่วมทุนกับ ปตท. ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านแรงงาน 3.บริษัท บีไอดี อินโนเวชั่นแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นบริษัทเกี่ยวกับนวัตกรรม ลงทุนในธุรกิจดิจิทัล ซึ่งขณะนี้มีบริษัทลูก 2 บริษัท คือ เอสดีแอลที ทำหน้าที่เกี่ยวกับบล็อกเชนกับเอไอ และบริษัท พี.เอส.โซลูชั่น ทำหน้าที่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์เน็ตเวิร์ค 4. บริษัท บาฟส์ อินเทค บริษัทประกอบรถยนต์เติมน้ำมัน 5. บริษัท บีพีทีจี บริษัทร่วมทุนกับ พีที ทำเรื่องรีเทลน้ำมัน 6. บริษัท บาฟส์ คลีน เพิ่งเปิดมีนาคม 2563 ทำโครงการพลังงานสีเขียว และ 7. บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด(FPT)


ธุรกิจหลักของ BAFS ยังขยายตัวและมีการลงทุนเพิ่มที่สนามอู่ตะเภา ผ่านบริษัทร่วมทุน และยังมีการขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันในเฟส 2 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว รอบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT) เปิดให้บริการ
 แนวทางการทำงานของ “หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์” สอดรับไปกับ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีและประธานกรรมการบริษัท BAFS ที่วางกลยุทธ์ไว้ 3 ด้าน คือ 1.กลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน คือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจใหม่ๆ  2.การปรับเปลี่ยนองค์กรโดยนำเอาเทคโนโลยี และดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ลดขั้นตอนงานที่ซ้ำซ้อน และ 3. คน ที่พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง


ผู้บริหาร BAFS บอกว่า ความท้าทายหลังจากนี้ หากมองที่ปัจจัยเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน จริงๆ ทุกภาคส่วนปรับตัวไปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่ืองซัพพลายเชนที่ปรับเปลี่ยนไปแล้วเรียบร้อย ตอนนี้สิ่งที่กังวลเป็นพิเศษ คือสิ่งที่ยังไม่เห็น แต่เริ่มมีการก่อตัวของความขัดแย้ง ก็คือ จีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ก็หวังว่ารัฐบาลของทั้ง 3 ฝ่ายจะหาทางออกที่ประนีประนอมได้ แล้วมีมุมมองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องพยายามสร้างความต่อเนื่องในนโยบาย เช่น การผลักโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการและนโยบายที่ควรสานต่อ เพราะต่างชาติให้ความสนใจการลงทุนในประเทศไทย

 
“ตอนนี้ เราเริ่มมองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะมีการจองสล็อทการบินกลับเข้ามา ตอนนี้คือรอเที่ยวบินและทัวร์ให้ฟื้นเต็มที่ เราเชื่อว่าเศรษฐกิจเราฟื้นกลับมาแน่ โดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว และภาคค้าปลีก รวมถึงธุรกิจการเติมน้ำมันในท่าอากาศยานของเรา”


ส่วนภาวะความผันผวนของตลาดน้ำมัน ตรงนั้นไม่เกี่ยวกับ BAFS เพราะรายได้ของ BAFS มาจากการให้บริการ ยิ่งมีสเกล มีการใช้เที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น รายได้ของ BAFS จะยิ่งสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของ BAFS ที่จะฟื้นรายได้กลับมาแน่นอน 
 

สำหรับการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ขณะนี้ BAFS ได้รับการรับรอง Carbon neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2563 โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ อบก. ส่วนการเดินหน้าสู่ตั้งเป้า Net Zero ที่ BAFS ตั้งไว้ในปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 ทุกอย่างกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมาย โดยปี 2566 จะใช้เงินลงทุนอีกราว 600 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากงบลงทุนรวมของกลุ่มบริษัทที่ตั้งไว้ราว 1,500 ล้านบาท 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,882 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2566