แม่ทัพ PJ US Group “บริหารแบบไทย มาตรฐานอเมริกา”

22 ก.ค. 2566 | 08:46 น.
อัพเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 09:00 น.

สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของสินค้าไทย ปี 2565 ไทยส่งออกไปสหรัฐ 1.64 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17% ของมูลค่าส่งออกไทยไปทั่วโลก

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2566) ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวตามภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ไทยยังสามารถส่งออกไปสหรัฐฯได้มูลค่า 6.41 แสนล้านบาท ติดลบ -0.46% ซึ่งถือเป็นอัตราติดลบที่ไม่มากนัก โดยสินค้าในกลุ่มอาหารที่คนต้องบริโภคยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

“ประมุข เจิดพงศาธร” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJ US Group ผู้จัดหา และนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และเรือนจำในสหรัฐฯ รวมกันหลายหมื่นสาขา ฉายภาพธุรกิจของกลุ่ม ณ ปัจจุบัน มีบริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐประกอบด้วย CKK Paradiso Inc. ที่เป็นบริษัทแม่ดูแลครบวงจร, Sathorn Organic Corp.ทำตลาดสินค้าออร์แกนิค,Temple Khonkaen Corp. ทำตลาดสินค้ากลุ่มเรือนจำ และ Pak Thai Corp. ทำตลาดห้างสรรพสินค้าระดับบน

ในปี 2565 ล่าสุด รายได้ของกลุ่มมากกว่าพันล้าน แต่มีผลกำไรที่มากขึ้นกว่าปีก่อน จากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ค่าระวางเรือ และตามภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ และปีนี้ทางกลุ่มยังคาดหวังจะยังมีรายได้และกำไรที่ดีขึ้น 10-20%

ประมุข กล่าวอีกว่า ความสำเร็จอย่างน่าพอใจของธุรกิจที่สร้างขึ้นในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาในตลาดสหรัฐฯ มาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งจากคอนเน็กชัน หรือการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับซีอีโอที่เป็นเจ้าของห้างฯ รวมถึงไดเร็กเตอร์(กรรมการบริษัท,ผู้จัดการ) ระดับสูงของคู่ค้า ที่เมื่อรับปากจะจัดหาสินค้าใดให้แล้วต้องทำให้ได้ และสามารถยกหูคุยกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวในความเป็นเพื่อน นอกเหนือจากเวลางานผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ ตีกอล์ฟ และอื่น ๆ การจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพ และส่งของตรงเวลา ซึ่งเมื่อได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจแล้ว โอกาสการสร้างและขยายธุรกิจร่วมกันก็จะมีอีกมาก และมีความยั่งยืน

นอกจากนี้ต้องมีคอนเน็กชันที่ดีกับสายเดินเรือ สายการบิน และบริษัทประกันภัย ที่ใช้บริการเป็นประจำ มีความรู้ในการบริหารจัดการการนำเข้าที่ต้องควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ได้ในทุกเรื่อง รวมถึงสินค้านำเข้าและการกระจายสินค้าที่ต้องใช้บริการคลังสินค้าที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ก็ต้องสร้างคอนเน็กชันที่ดีกับพนักงานในทุกระดับทั้งระดับหัวหน้า พนักงานระดับล่าง เพื่อเขาจะได้ให้บริการ

อย่างดีในการเก็บสินค้าของบริษัท และส่งมอบให้ตรงเวลา ขณะเดียวกันในการนำเข้าสินค้าต้องมีความรู้ และมีความแม่นยำในเรื่องกฎหมาย หรือกฎระเบียบ และในรายละเอียดข้อบังคับขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA) เช่น ข้อกำหนดของฉลากอาหารต้องสำแดงข้อมูลอะไรบ้าง ตัวหนังสือต้องขนาดกี่เซนติเมตร ซึ่งต้องติดตามและทำให้ถูกต้องตามสถานการณ์และข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงไป

ประมุข  เจิดพงศาธร ลุยโปรโมทข้าวไทยในสหรัฐ

 “ผมยึดตนเป็นที่พึ่งแห่งตนและเดินสายกลาง สินค้าก็เลือกทำเฉพาะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และตรงกับความต้องการของลูกค้าเพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ใช่ใครมาแนะนำให้ทำอะไรก็ทำหมด สินค้าที่เราทำในเวลานี้มีอยู่ 70-80 รายการในกลุ่มสินค้าอาหาร ซึ่งจากการได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้าและลูกค้า นำมาซึ่งการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง นอกเหนือจากภายใต้แบรนด์ของลูกค้า”

 ปัจจุบันสินค้าที่บริษัทร่วมพัฒนากับพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตในไทย รวมถึงสินค้าที่ป้อนให้กับคู่ค้า และจัดจำหน่ายในสหรัฐฯในแบรนด์ของตัวเอง มีข้าวสารบรรจุถุงทุกชนิด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวขาวออร์แกนิค ข้าวญี่ปุ่น ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง เครื่องดื่มและน้ำผลไม้ ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ ผักและผลไม้กระป๋อง ของว่างและผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคต่าง ๆ ในแบรนด์ QUEEN ELEPHANT, Gourmet Stars, Cocochito, P&J, COCO ADE, LOFE OF THAI เป็นต้น รวมถึงอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาสินค้าสะดวกทาน เช่น ข้าวพร้อมทานต่าง ๆ ที่สามารถเข้าไมโครเวฟแล้วทานได้เลย

 “ที่อเมริกามีปัญหาเงินเฟ้อสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องขึ้นดอกเบี้ยกว่าสิบรอบเพื่อสกัดเงินเฟ้อส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ปีที่แล้ว มีบริษัทใหญ่ ๆ ในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นของอีลอน มัสก์ (เจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำเทสลาและสเปซเอ็กซ์) บริษัทของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (ซีอีโอของเฟซบุ๊ก) ประกาศปลดพนักงาน การนำเข้าสินค้าของสหรัฐลดลง แต่มีธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารที่เป็นปัจจัย 4 ที่คนยังต้องกินต้องใช้ยังไปได้ โดยชาวอเมริกันจะซื้อหาอาหารไปปรุงทานที่บ้านมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นเราจึงพยายามเจาะลูกค้ากลุ่มที่เป็นห้างสะดวกซื้อหรือตลาด Dollar stores มากขึ้น รวมถึงตลาดเรือนจำที่มีกว่า 2,000 แห่งในสหรัฐฯ”

ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแอนเจลิส โปรโมทข้าวหอมมะลิไทย รวมถึงสินค้าอื่นๆ ของไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ ที่ลอสแอนเจลิส (แอลเอ) ซานโฮเซ ซาคราเมนโต ซีแอตเทิล โอเรกอน รวมถึงมีแผนโปรโมทในนิวยอร์กซึ่งจะทำต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน เป้าหมายเพื่อขยายตลาดข้าวไทย และตลาดข้าวของทางกลุ่มภายใต้แบรนด์ QUEEN ELEPHANT ให้ขยายตัวมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เป็นโอกาส

 “ปกติเราจะเอาของไปโปรโมทในห้างของเขาไม่ง่าย แต่ผมมีคอนเน็กชันกับเจ้าของห้างอยู่ในเกือบทุกหัวเมืองในสหรัฐ เวลาเศรษฐกิจแบบนี้คนก็ไปซื้อของในห้างน้อยลง แต่ยังแห่ไปซื้อจากห้างวอลมาร์ต รวมถึงพวกดอลลาร์สโตร์ ที่ของราคาถูกหน่อย แต่ราคาปรับขึ้นบ้างตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ที่สำคัญห้างเหล่านี้คนจะเลือกซื้อสินค้าจากที่เขาเคยเห็นแบรนด์ หรือเชื่อถือในแบรนด์ก่อน ถ้าไม่มีคอนเน็กชันตอนนี้ผมบอกได้เลยเหนื่อย

 อย่างไรก็ดีลูกค้าเราในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เราไม่โลภที่จะทำ แต่เลือกที่จะทำ การเมือง หุ้น คริปโต ผมไม่ยุ่ง แต่มุ่งทำสิ่งที่ตนรัก คือ สร้างแบรนด์สินค้าไทยในดินแดนที่แข่งขันโดยเสรี ภายใต้กฏระเบียบ กฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ประมุข กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,906 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566