กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Capacity Building for Hydrogen Policymaker for Thailand”
ภายใต้กลไก Technological Assistance ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network: CTCN) กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ร่วมกับ National Institute of Green Technology (NIGT) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) มีผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 100 คน จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงานและขับเคลื่อนพลังงานไฮโดรเจน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity : NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และมีการตั้งพันธกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายในควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การจัดทำการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) หรือ จัดทำเป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีสในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับ 300 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่หลากหลายร่วมกัน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
หนึ่งในวิธีการส่งเสริมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และจะมีบทบาทสำคัญต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ คือ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) และ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน (Energy Transition)
เช่น การเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในบางอุตสาหกรรมเป็นการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) หรือ การใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในรูปแบบต่าง ๆ โดยหนึ่งในรูปแบบพลังงานหมุนเวียนที่มีความน่าสนใจ คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) โดยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินได้
ทั้งนี้ สอวช. ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการติดตั้ง Solar Rooftop ในมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่เข้าในโครงการนี้กว่า 50 แห่ง
“และในวันนี้พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น CTCN เห็นศักยภาพของประเทศไทยว่าทำได้ จึงให้ทุนในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน
และพบว่าเกาหลีใต้ ได้พัฒนาก้าวหน้าไปมากและรัฐบาลให้การสนับสนุนในช่วงแรก จึงได้มอบหมายให้ NIGT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมาเป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ โดยได้เข้ามาสำรวจเก็บข้อมูล นำไปวิเคราะห์ และเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันผลิตพลังงานไฮโดรเจนในอนาคต” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.ซอน จีฮี หัวหน้าศูนย์ยุทธศาสตร์นานาชาติ (Head of Center for Global Strategy) ของ NIGT ได้นำเสนอเกี่ยวกับความตระหนักและการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤติของโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกว่า 192 ประเทศทั่วโลก ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2015
และเพื่อให้ดำรงเป้าหมายดังกล่าว ความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศ จึงถูกยกมาเป็นข้อตกลงกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องการการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อบรรลุพันธะกรณีกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในระดับการปกครองภายในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ก็มีการจัดตั้งกลไกทางเทคนิคเพื่อเป็นช่องทางในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี และเพิ่มความร่วมมือกันระดับประเทศตลอดจนมีกลไกช่วยเหลือทางการเงินร่วมด้วย
ดร.ปาร์ค ชุลโฮ ผู้อำนวยการทั่วไป (Director General) ของ NIGT ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ Development of a National Hydrogen Strategy and Action Plan for Accelerating Thailand’s Net-zero Target กล่าวถึง ความคืบหน้าในการจัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทาง NIGT ได้จัดทำขึ้น จากการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ 5 ประการคือ
1) โครงการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ซึ่งเราได้หาคำตอบโดยการทำจัดทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
2) ประเทศไทยสามารถใช้พลังงานไฮโดรเจนได้จากที่ไหน ซึ่งคำตอบคือ เราจำเป็นต้องมีรากฐานการใช้ภายในประเทศด้วย ซึ่งมีการประเมินจากภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศ 3 ภาคส่วน
3) เทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยคืออะไร เพื่อเป็นหลักประกันการผลิตไฮโดรเจนในเชิงกลยุทธ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจนพลังงานที่เหมาะสมที่สุด
4) เราจะทำให้เทคโนโลยีไฮโดรเจน เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นคำถามหลักโดย NIGT ได้เตรียมกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการโฮโดรเจนแห่งชาติไว้แล้ว
และ 5) เราจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของเกาหลีให้กับประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องมีแนวทางในการดำเนินงานสามารถแชร์ประสบการณ์การดำเนินงานของเกาหลีได้ จึงได้จัดกิจกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการรับรู้ให้เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมานำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาไฮโดรเจนในภาคธุรกิจ ได้มีการนำเสนอรูปแบบการทำแบบจำลองธุรกิจ (Business model) ผ่านการดำเนินงานของศูนย์วิจัยต้นแบบการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบครบวงจร ณ Chungju Food Waste Bioenergy Center สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งนำเสนอโดย ดร.ยอ จุนโฮ ที่ได้นำเสนอรูปแบบการบริหารจัดการผ่านการลงทุนโดยภาครัฐเพื่อสร้างศูนย์ผลิต Biogas จากเศษอาหารชุมชน และนำ Biogas ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแยกด้วยวิธีการ steam reforming ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนที่มีความบริสุทธ์และเป็นไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)
โดยศูนย์ดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฮโดรเจนอยู่ที่ 300 Nm3/h หรือประมาณ 348 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไฮโดรเจนแก๊สที่ผลิตได้จะถูกกักเก็บในถังด้วยกระบวนการบีบอัดแรงดันสูง ก่อนที่ส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายเข้าสู่สถานีจำหน่าย ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์วิจัยฯ และอีกส่วนหนึ่งจะถูกขนส่งไปยังสถานีจำหน่ายอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Chungju ต่อไป
“รูปแบบธุรกิจนี้มีลักษณะการดำเนินการ ที่คาดว่าน่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทย ในการลงทุนเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ และเพื่อศึกษาความเป็นไปได้รองรับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต”
ดร.ซอน จีฮี ได้อธิบายถึงกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Finance Mechanisms) ว่า มีการมุ่งเน้นไปที่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา สร้างกิจกรรมการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นหน่วยงานเชิงปฏิบัติการของกลไกทางการเงินของ UNFCCC
การรับความช่วยเหลือจาก GCF ในประเทศไทย ยังมีความซับซ้อนในหลายขั้นตอน ทั้งยังต้องมีการยื่นหนังสือแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการจากหน่วยประสานงานหลัก (National Designated Authority: NDA) ของแต่ละประเทศ
โดยจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของหน่วยงานที่ยื่นความจำนง และส่งต่อไปยังหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited Entities: AE) ซึ่งขั้นตอนในช่วงแรกนี้มีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจทิศทางในการดำเนินโครงการ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมคือการมีหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (AE) ที่มาจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทางการเงินได้มากขึ้น
รวมไปถึงการนำเสนอโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น พลังงานไฮโดรเจน ในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างโอกาสการได้รับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการด้านพลังงานไฮโดรเจน
ดร.คิม โซอึน นักวิจัยจาก NIGT ได้ขยายความถึงบทบาทและตัวอย่างของ Accredited Entities and Cases of Technology Financing ว่า AEs เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง และส่งข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุน ให้แก่คณะกรรมการ GCF พิจารณา ซึ่งการสนับสนุนด้านการเงินมีทั้งการสนับสนุนแบบให้เปล่า และในรูปแบบเงินกู้ ซึ่ง AE สามารถเป็นได้ทั้งหน่วยงานระดับภูมิภาคและหน่วยงานระดับประเทศ ในการนี้ได้ยกตัวอย่างหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตในเกาหลีใต้และประเทศไทยพร้อมทั้งบทบาทการทำงาน
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายวิศรุจน์ เมืองปลื้ม ตัวแทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยประสานงานหลัก หรือ National Designated Authorities (NDAs) นางสุกันยา ทองธำรงค์ ในฐานะ AE จาก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และ ดร.ธนา ศรชำนิ ตัวแทนจาก Hydrogen Thailand Club ได้ร่วมแลกเปลี่ยนโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน และโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ
1) พลังงานไฮโดรเจนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการพัฒนาไว้เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในวิธีการบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
2) ภาคธุรกิจและเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจน แต่พลังงานไฮโดรเจนยังมีข้อจำกัดสำคัญคือต้นทุนและการลงทุนที่ยังสูงอยู่
3) หากประเทศไทยจะมีการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง ในช่วงแรกของการพัฒนาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และการสนับสนุนจากกลไกการเงินระหว่างประเทศ
และ 4) ปัจจุบันกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานประสานงานหลักของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ซึ่งมีบทบาทในการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลโครงการเพื่อเสนอต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว รวมถึงมีส่วนในการช่วยหาหน่วยงานที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตของประเทศไทยด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง