climatecenter

ดีเดย์ 12 ก.ค. อัดงบรับมือ "ลานีญา" สทนช." ย้ำบริหารจัดการน้ำมีเอกภาพ

    "เลขาธิการ สทนช." ย้ำบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพมาก เผย 12 ก.ค.นี้ อัดงบรับมือ "ลานีญา"  ถึงมือทุกหน่วยงาน

ในฤดูฝนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับ สภาวะลานีญา ซึ่งจะทำให้ฝนตกหนักสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝน

และอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ สร้างความกังวลให้กับประชาชนว่า สถานการณ์จะรุนแรงซ้ำรอยปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่กระจายเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

ดีเดย์ 12 ก.ค. อัดงบรับมือ \"ลานีญา\" สทนช.\" ย้ำบริหารจัดการน้ำมีเอกภาพ

สำหรับข้อกังวลดังกล่าว หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่มาจากธรรมชาติไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน  หรือสภาพอากาศของปี 2554 กับปี 2567 นั้น พบว่า มีความแตกต่างกันมาก 
 

ปริมาณฝนในปี 2554 สูงกว่าค่าปกติถึง 24% เฉพาะในช่วงฤดูฝนยังตกต่อเนื่องอีกด้วย

ในขณะที่ในปี 2567 จากข้อมูลที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผลการวิเคราะห์ ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ฝนและสภาพอากาศ เปรียบเทียบปริมาณฝนระหว่างปี 2567 และปี 2554 พบว่า ปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีน้อยกว่าค่าปกติถึง 24%

ดีเดย์ 12 ก.ค. อัดงบรับมือ \"ลานีญา\" สทนช.\" ย้ำบริหารจัดการน้ำมีเอกภาพ

และได้คาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน–พฤศจิกายน 2567 ปริมาณฝนตกสะสมจะมากกว่าค่าปกติประมาณ 5-8% เท่านั้น โดยเฉพะในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 12% และยังน้อยกว่าปริมาณฝนที่ตกเมื่อปี 2554 มาก 

เช่นเดียวกับจำนวนพายุหมุนเขตร้อนที่พัดผ่านประเทศไทย ในปี 2554 มีมากถึง 5 ลูก จนทำให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งเต็มความจุ เกิดน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่มากกว่า 16 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ในขณะที่ปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนพัดผ่านประเทศไทยเพียง 1-2 ลูก เท่านั้น

นอกจากปัจจัยจากธรรมชาติที่จะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่จะทำให้เกิดอุทกภัยในปีนี้ ไม่น่าจะรุนแรงเท่าปี 2554 แล้ว หากมองไปที่เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในช่วงปี 2554 ยังกระจัดกระจายขาดเอกภาพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากถึง 48 หน่วยงาน ก่อให้เกิดปัญหาความทับซ้อนในเชิงโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ การใช้งบประมาณ เพราะไม่มีหน่วยงานหลักเข้ามาดูแลบริหารจัดการในภาพรวม 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.

ในเรื่องนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีเอกภาพมากขึ้น ภายหลังจากการจัดตั้ง “สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ขึ้นมาเมื่อปี 2560 เพื่อทําหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

โดยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายหลักในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ประสานสอดคล้องกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมทั้งได้จัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมา 3 ระดับ ประกอบด้วย

ระดับชาติ โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

ระดับลุ่มน้ำ โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ

และระดับพื้นที่ โดยองค์กรผู้ใช้น้ำ

ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในปัจจุบัน จึงมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับสถานการณ์จริง และอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
 นอกจากนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน จะเน้นการดําเนินงานแบบเชิงรุก คือเป็นการเตรียมการรับมือก่อนเกิดปัญหา

รวมทั้งยังได้มีการบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำหลากและจัดจราจรการระบายน้ำในแต่ละลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำชี เป็นต้น

และหากมีแนวโน้มเกิดภาวะวิกฤติก็จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย” ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดบูรณาการทำงานร่วมกันขึ้นมาทันที ทำให้การบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมมีเอกภาพ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์

ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ภายหลังจากการจัดตั้ง สทนช. ขึ้นมาแล้ว ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้

ปี 2565 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยประสบกับสภาวะลานีญา มีปริมาณฝนใกล้เคียงกับปี 2554 และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรงจำนวนถึง 4 ลูกที่่พาดผ่านประเทศไทยโดยตรง จึงทำให้ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศปี 2565 และปี 2554 มีค่าใกล้เคียงกัน

โดยมีปริมาณมากกว่าค่าปกติประมาณ 20% แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีการตั้งศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการฯ และเลขาธิการ สทนช. เป็นรองผู้อำนวยการฯ ในครั้งนั้น มีการออกมาตรการรับมือฤดูฝน 11 มาตรการ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการทำงานมากกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนํามาแก้ไขปัญหา

ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าพอใจ ส่งผลให้ในภาพรวมทั้งหมด พื้นที่น้ำท่วมปี 2565 ลดลงจากปี 2554 ถึง 3 เท่าตัว เช่น ในช่วงเดือนกันยายนจากปี 2554 เกิดพื้นที่น้ำท่วม 16 ล้านไร่  ในขณะที่ปี 2565 เกิดพื้นที่น้ำท่วม 5.3 ล้านไร่ เท่านั้น

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสภาวะลานีญาและฤดูฝนในปีนี้ สทนช. ได้ถอดบทเรียนจากปี 2565 และปี 2566 มีการปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่อง ลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนได้เป็น 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 และได้ผ่านความเห็นชอบจาก กนช. และคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว

ระหว่างนี้ได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว พร้อมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน 

ล่าสุด กนช. ยังได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนและการส่งเสริมความมั่นคงด้านน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่สภาวะลานีญา ซึ่งคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนนี้อีกด้วย

โดยแผนงาน/โครงการภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าแต่ละหน่วยงานจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์น้ำหลากและสภาวะลานีญาที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

จะเห็นได้ว่า การวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสภาวะลานีญา และฝนที่จะตกหนักในปีนี้ ค่อนข้างมีความพร้อมกว่าทุกปีที่่ผ่านมา ผนวกกับสถานการณ์น้ำในแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศปีนี้ ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ให้เหมาะสม ดังนั้นหากมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จะสามารถตัดยอดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำได้อีกจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ สทนช. ได้มีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณน้ำทุกสัปดาห์ อีกทั้งได้บูรณาการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝน สภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ

"และเป็นปัจจุบันมากที่สุด ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อจะนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ประเมินพื้นที่่เสี่ยงอุทกภัย เตรียมเครื่องมือเครื่องจักรรองรับได้อย่างประสิทธิภาพ รวมทั้งเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์” เลขาธิการ สทนช. กล่าวไว้