environment

โลกร้อนน่าห่วง UN ระบุอุณหภูมิจ่อขยับสูงเกินเกณฑ์เป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า

    หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่า มีโอกาส 80% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะขยับสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม คาดว่าสภาพอากาศร้อนดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2567 ถึง 2571

ตัวเลขคาดการณ์ โลกร้อน ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากข้อมูลเมื่อปี 2558 ซึ่ง การศึกษาอุณหภูมิโลก ในช่วงปีดังกล่าวชี้ให้เห็นโอกาสที่จะ อุณหภูมิโลก จะขยับสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น แทบจะเป็นศูนย์

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาขององค์การสหประชาชาติ เปิดเผยเมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการส่งสสัญญาณเตือนว่า ภายในห้าปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะขยับสูงเกินเกณฑ์ภาวะโลกร้อนที่สำคัญอย่างยิ่ง ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการที่นานาประเทศจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น

ในรายงานชิ้นสำคัญที่เผยแพร่ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก WMO ระบุว่า ขณะนี้มีโอกาสถึง 80% ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะขยับสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ เหนือระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีระหว่างปีค.ศ. 2024-2028 (พ.ศ.2567-25714)

การคาดการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากรายงานในปี 2558 ซึ่งขณะนั้น โอกาสที่โลกจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น แทบจะเป็น 0%

ตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสนั้นเป็นตัวเลขสำคัญ เพราะเป็นเป้าหมายสำคัญของข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นานาประเทศตกลงจะร่วมมือกันดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อุณหภูมิเกินขีดจำกัดดังกล่าวในระยะยาว จะนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นและสร้างผลกระทบในระดับ “หายนะ”ได้

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN)

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่า มนุษย์กำลังเล่นเกมที่เสี่ยงมากกับโลกใบนี้ แต่มนุษย์ก็มีอำนาจควบคุมอยู่ในมือที่จะทำให้โลกรอดพ้นหรือมุ่งหน้าสู่หายนะดังกล่าว เขาเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกขยับสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในระยะยาว จะแพ้หรือชนะนั้น จะได้เห็นกันภายในยุคทศวรรษ 2020 นี้ ภายใต้การกุมบังเหียนของบรรดาผู้นำโลกในยุคปัจจุบัน

ถึงแม้โลกยังไม่ได้เพิ่มอุณหภูมิสูงถึงระดับนั้น แต่เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็แสดงให้เห็นว่า สภาวะโลกร้อนในเวลานี้ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการเกิดคลื่นความร้อน ที่ทำลายสถิติใดๆในอดีต รวมถึงเหตุการณ์ฝนตกหนักและความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และความร้อนของมหาสมุทรที่ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งในทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว

นายกูเตอร์เรสเรียกร้องนานาประเทศในโลกเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้โลกสามารถรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่การประชุมสุดยอดของกลุ่ม G7 จะเริ่มขึ้นที่ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 มิถุนายนนี้

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำเหล่านั้น ว่าจะลงมือทำหรือไม่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 18 เดือนข้างหน้านี้ นี่คือช่วงเวลาที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกบีบคั้นอย่างยิ่ง”

นี่คือช่วงเวลาที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกบีบคั้นอย่างยิ่ง (ภาพจากองค์การสหประชาชาติ)

WMO ระบุในรายงานว่า ระหว่างปีค.ศ. 2024 ถึง 2028 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นในแต่ละปี คาดว่าจะอยู่ที่ระหว่าง 1.1 องศาเซลเซียส ถึง 1.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าพื้นฐานระหว่างปีค.ศ. 1850 ถึง 1900

รายงานระบุว่า มีโอกาสประมาณ 50/50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกตลอดระยะเวลาห้าปีดังกล่าว จะเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หรือเพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ 32% จากรายงานของปีที่แล้วที่ประเมินช่วงเวลาจากปีค.ศ. 2023 ถึงปี 2027

รายงานระบุว่า ระหว่างปี 2024-2028 นั้น จะมีอย่างน้อยหนึ่งปีที่จะสร้างสถิติอุณหภูมิใหม่ที่สูงแซงหน้าสถิติในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

“เบื้องหลังสถิติเหล่านี้ คือความจริงอันสิ้นหวังที่ว่า เรากำลังอยู่นอกเส้นทางที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีส” โค บาร์เร็ตต์ รองเลขาธิการ WMO กล่าวในแถลงการณ์ และยังเตือนว่า นานาประเทศต้องเร่งมือเร็วขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เช่นนั้น โลกต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ในแง่ของต้นทุนทางเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ และยังมีอีกหลายล้านชีวิตที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น จะมีความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้ อุณหภูมิโลกเคยสูงทะลุ 1.5 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว (2566) ถึงมกราคมปีนี้

 

ข้อมูลอ้างอิง