environment

โลกผันผวนความท้าทายของภาคเกษตรไทย แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว

    โลกผันผวนความท้าทายของภาคเกษตรไทย กรมส่งเสริมการเกษตร แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ พร้อมหนุนยกระดับนักส่งเสริม พัฒนาพัฒนาทุนมนุษย์ ดูแลเกษตรกรอีกกว่า 6 ล้านครัวเรือน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ภายในปี 2570

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)เปิดเผยว่า เมื่อบริบทโลกยุคใหม่เปลี่ยนผ่านจาก Disruptive World เข้าสู่ VUCA World  (วูก้าเวิร์ล )หรือ โลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ ทั้งสภาพแวดล้อมลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกต้องปรับตัว ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ ให้ทันสถานการณ์  และต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางเพื่อลดความไม่แน่นอนต่างๆ ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างรวดเร็ว การรับมือการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องท้าทายที่นักส่งเสริมการเกษตรต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน

โลกผันผวนความท้าทายของภาคเกษตรไทย แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว

ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีนักส่งเสริมการเกษตรอยู่ทุกพื้นที่ นับเป็นความท้าทายที่จะต้องนำองค์กรขนาดใหญ่ ดูแลนักส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กว่า 10,000 คน ดูแลเกษตรกรอีกกว่า 6 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรดูแลกว่า 148 ล้านไร่

นับเฉพาะในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ดูแลเครือข่ายเกษตรกร 8 เครือข่ายหลัก ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่  Smart Farmer Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน ยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน

“กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องช่วยสร้างทักษะให้เกิดการเรียนรู้กับเกษตรกร และผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ต้องมองทั้งการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและนักส่งเสริมการเกษตร ที่จะต้องเดินคู่กัน เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยได้จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับเกษตรกร และนักส่งเสริมการเกษตร เช่น Growth Mind Set & Anti Fragile คือ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ “

โลกผันผวนความท้าทายของภาคเกษตรไทย แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว

นายพีรพันธ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าในโลกยุควูก้า ภาคเกษตรยังต้องเจอกับผันผวนทั้งทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคอาหารสุขภาพและโภชนาการที่ดี รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรื่องต่างๆ คือความท้าทายของภาคการเกษตร ที่ล้วนส่งผลให้นักส่งเสริมการเกษตร ต้องปรับตัวแทบทั้งสิ้น การสร้างความเข้าใจให้เกษตรกร ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงองค์กร

 

ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งความพอประมาณ ความพอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ความมีเหตุผล พิจารณาจากสาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาควบคุมการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

โลกผันผวนความท้าทายของภาคเกษตรไทย แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว

ส่วนการจัดการผลผลิต การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain  management) การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Data Analytics) จะต้องวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง เพื่อควบคุมคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ ตามมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานต่างๆ สร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ

รวมถึงเรียนรู้การทักษะด้านการตลาดและการตลาดแม่นยำ การจัดการแม่นยำ การเก็บเกี่ยวแม่นยำด้วย รวมถึงจะต้องเข้าใจการจัดระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้น เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และการรับรองตัวเองภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น การติดฉลากคาร์บอน เป็นการแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือเตรียมรองรับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulations: EUDR) รวมถึงการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโลกยุควูก้าไม่เพียงแต่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นักส่งเสริมการเกษตรเองก็ต้องทำงานควบคู่กับเกษตรกรให้บริการ ให้คำแนะนำ เรียนรู้เครื่องมือ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ อัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ digital technology และกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ด้วยแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม การลดต้นทุนการผลิต  เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้