environment

"โลกร้อน-น้ำท่วมใหญ่" ทุบเศรษฐกิจไทย ผวาลากยาวเสียหาย 5 หมื่นล้าน

    โลกร้อนซึมลึกกระทบเศรษกิจไทย หอการค้าชี้น้ำท่วมใหญ่เหนือ-อีสาน กระทบเศรษฐกิจเสียหาย 2.4 หมื่นล้าน หวั่นลากยาวอาจกระทบถึง 5 หมื่นล้าน ห่วงไทยดันเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ช้ากว่าเวียดนาม ทำเสียเปรียบหนักแข่งส่งออก

จากที่ทั่วโลกยังแข่งกันปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน ส่งผลกระทบน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่ารุนแรงกว่าในอดีต กระทบต่อภาคเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ภาคธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกในภาพรวม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ประมาณ 24,251 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็นประมาณ 0.14% ของ GDP (ข้อมูล ณ 24 ก.ย. 67) ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.6 ล้านไร่

แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 911,063 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ 1,668,530 ไร่ ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด มีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 19,376 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 79.9% ของความเสียหาย รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 4,713 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 162 ล้านบาท

สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 2,689 ล้านบาท สุโขทัย 2,265 ล้านบาท หนองคาย 2,030 ล้านบาท และนครพนม 1,576 ล้านบาท

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ห่วงมีความเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะฝนตกหลังเขื่อนที่อาจสร้างผลกระทบเพิ่มเติม ดังนั้น ในระยะสั้นหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือมวลน้ำที่จะไหลลงมาสู่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ตลอดจนปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลมีแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

“น้ำท่วมถือเป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักเจออยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งก็มีสาเหตุหลักมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงต้นปีประเทศไทยเจอภาวะเอลนีโญ ที่ส่งผลให้ไทยและภูมิภาคใกล้เคียงเกิดภัยแล้งและฝนตกน้อย แต่ช่วงสิงหาคมเป็นต้นมาไทยเริ่มเผชิญภาวะลานีญาทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ ทำให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม”

\"โลกร้อน-น้ำท่วมใหญ่\" ทุบเศรษฐกิจไทย ผวาลากยาวเสียหาย 5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเริ่มเกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท ดังนั้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ

อุบัติภัย 80% จากโลกร้อน

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ อ.แม่สาย รวมถึง อ.เมือง และหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย และในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า เรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในพื้นที่ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้จากที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 80% อีก 20% มองว่าเป็นผลจากการขาดการวางผังเมืองที่ดี ทำให้มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ และมีการตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลให้มีน้ำป่า และน้ำไหลหลากรุนแรง

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ภัยพิบัติรุนแรงมีสาเหตุจากฝีมือมนุษย์ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จะสังเกตเห็นว่า ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ยังมีน้ำท่วมที่เมียนมา ลาว เวียดนาม และในหลายประเศของอาเซียน จีนตอนใต้ ในยุโรปก็มีที่อิตาลี โปแลนด์ เช็ก โรมาเนีย เกิดน้ำท่วมในแอฟริกา ในไนจีเรียที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจากภาวะโลกร้อนขึ้น

ปีที่แล้วอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 1.4 องศาเซลเซียส จากความตกลงปารีส(COP26) มีเป้าหมายในปี 2030 มุ่งควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา ซึ่งเหลืออีก 6 ปีมีโอกาสที่อุณหภูมิโลกจะสูงถึง 1.7-1.8 องศาเซลเซียสซึ่งถือว่าเร็วกว่ากำหนด จากโลกร้อนขึ้น”

ปัจจุบันประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกคือจีน สัดส่วน 27% สหรัฐ 15% อินเดีย 8% หรือ 3 ประเทศรวมกัน 50% ส่วนไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย โดยไทยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ขณะที่เวียดนามคู่แข่งด้านการค้าที่สำคัญในตลาดโลก ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2030 เป็นปีเดียวกับเป้าหมายของประเทศในยุโรปและสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ชิงความได้เปรียบไทยในเวทีการค้าโลก ที่จะนำมาตรการลดโลกร้อนมาใช้กีดกันการค้ามากขึ้น

ลากยาว ศก.เสี่ยง 5 หมื่นล้าน

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จากเวลานี้ยังเกิดอุทกภัยหรือน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ และภาคอีสาน และสถานการณ์ยังไม่แน่นอนจากยังมีน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากรุนแรงในบางพื้นที่ เบื้องต้นคาดน้ำท่วมส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังมีความยืดเยื้อและยังมีสถานการณ์ที่เลวร้ายของสภาพอากาศต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่ความเสียหายอาจสูงถึง 50,000 ล้านบาท

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคได้

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2567 นี้จะอยู่ที่ 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3,100 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43,400 ล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมรวมกันอยู่ที่ 46,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.27% ของ GDP

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4030 วันที่ 26 – 28 กันยายน พ.ศ. 2567