net-zero

"อีอีซี-พันธมิตร" สร้างโครงข่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดพื้นที่ EEC ดันศก.สีเขียว

    "อีอีซี-พันธมิตร" สร้างโครงข่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดพื้นที่ EEC ดันศก.สีเขียว เดินหน้ารพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม รับการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สอดคล้องเป้าหมายพัฒนาในภาพรวมให้ก้าวสู่พื้นที่ Net Zero Carbon Emission ปี 2065

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ แและเอกชนศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขต EEC ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ 

ทั้งนี้ จะศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการศึกษาถึงต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม (Social cost and Social benefit) เพื่อจะเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนวนต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น 

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนั้น จะขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกันกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่อีอีซี สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม รองรับให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาในภาพรวมให้ก้าวสู่พื้นที่ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2065 สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชนและพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

"อีอีซี-พันธมิตร" สร้างโครงข่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดพื้นที่ EEC ดันศก.สีเขียว

นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะอาดอย่างสูง 

กฟภ.จึงมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อสอดรับ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การร่วมขับเคลื่อนนโนบายการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT: Utility Green Tariff หนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต รวมไปถึงการส่งเสริมการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code : TPA Code เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าแบบเสรี เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรง

นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งจากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า Cogeneration และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าสะอาดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการด้านพลังงานสะอาด ที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน 

อย่างรไก็ดี ปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนี้ จะต้องมีการเปิดเสรีสำหรับการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code : TPA Code) เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรีได้ 

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยตอบสนองนโยบายภาครัฐในเรื่องการมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

"การเปิดเสรีให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third party access) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และจะมีส่งผลดีต่อกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมในเวทีโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องของการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงสะอาด"

รัฐบาลจะต้องเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการเปิดเสรีโดยเร็ว โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกันได้  นอกจากนี้ การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) ต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในเรื่องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้จริงด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยที่การลงทุนจากต่างประเทศ

“การศึกษาดังกล่าวนี้ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะช่วยให้การพัฒนาในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศ”